xs
xsm
sm
md
lg

การหยุดปฏิบัติหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองคงได้ยินเกี่ยวกับ “การหยุดปฏิบัติหน้าที่”
อยู่บ่อยครั้งในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

หลายคนที่ติดตามเรื่องดังกล่าวอาจฉงนระคนสงสัยว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่คืออะไร
ทำไมต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และใครจำต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่บ้าง?

ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นข่าวการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการระดับสูงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาสนใจเกี่ยวกับ “การหยุดปฏิบัติหน้าที่” กันมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวยังก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ เกิดข้อถกเถียง และเกิดความขัดแย้งด้านความคิดเห็นขึ้นในสังคม เพราะบางกระแสเห็นว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ในขณะที่อีกกระแสหนึ่งกลับเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมและขัดกับกฎหมาย

เพื่อสร้างความเข้าใจและลดช่องว่างด้านความคิดเห็นเหล่านั้น จึงต้องศึกษาว่าตามตัวบทกฎหมายได้กล่าวถึงการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้อย่างไร

แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกล่าวหาโดยได้วางหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

ในทางปฏิบัตินั้น “การหยุดปฏิบัติหน้าที่” ถือเป็นการกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเช่นกัน ดังนั้นการจะปรับใช้กฎหมายจึงต้องกระทำโดยรอบคอบและเคร่งครัด

การหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมี 3 กรณีดังนี้

1. การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. หรือ ส.ว. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า หากภายหลังจากที่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เมื่อศาลฎีกาได้รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ร้องขอให้เพิกถอนสิทธิดังกล่าวแล้ว ส.ส.หรือ ส.ว.ผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำร้อง

2. การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในกรณีที่กรรมการของ ป.ป.ช.ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรรมการผู้ถูกกล่าวหานั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่คำร้องอยู่ในกระบวนการพิจารณาพิพากษาของศาล จนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องดังกล่าว

3. การหยุดปฏิบัติหน้าที่ในกรณีมีการร้องขอถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ

รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งหมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ทบวงหรือกระทรวง สำหรับข้าราชการพลเรือน ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด สำหรับข้าราชการทหาร ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล หรือผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายอื่นบัญญัติ


เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ผู้มีอำนาจถอดถอนคือวุฒิสภาโดยเมื่อได้รับคำร้องแล้ว ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกร้องขอให้ถอดถอนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูลจนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ

การหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต


เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะพิเศษที่มุ่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่

ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือกระทำการอันใดอันอาจเป็นอุปสรรคในการตรวจสอบ มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงกำหนดว่า ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา

การที่กฎหมายต้องกำหนดเช่นนี้ เนื่องจากหากปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเกิดผลกระทบต่องานในหน้าที่ความรับผิดชอบหรือประโยชน์ของส่วนรวม แต่อย่างไรก็ตาม แม้แนวทางการหยุดปฏิบัติหน้าที่จะเป็นการสร้างแบบอย่างและบรรทัดฐานที่ดีให้แก่สังคม แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามกรอบและกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่จะเป็นกรณีการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองก็จะเป็นคนละประเด็นกับข้อกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น