รอง อสส. “วัยวุฒิ หล่อตระกูล” เผย ร่างคำฟ้องยึดทรัพย์ “ทักษิณ” 7.6 หมื่นล้านบาท เสร็จแล้ว รอเสนอ อสส.ลงนาม คาดยื่นฟ้องศาลฎีกานักการเมืองได้สัปดาห์หน้า
วันนี้ (12 ส.ค.) นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานอัยการสำนวน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เปิดเผยถึงการพิจารณาสำนวนคดีร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัวชินวัตร ว่า หลังจากที่คณะกรรมการร่วมอัยการ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประชุมหารือกันแล้ว ป.ป.ช.ยืนยันต้องการให้อัยการส่งสำนวนยึดทรัพย์ทั้ง 7.6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อัยการได้เขียนบรรยายฟ้องในคดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดพิจารณาลงความเห็น คาดว่าจะสามารถนำสำนวนส่งฟ้องต่อศาลได้โดยจะมอบหมายให้ นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เป็นผู้นำสำนวนไปยื่นฟ้องในสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดียึดทรัพย์นั้น ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช.จะรับหน้าที่พิจารณาสำนวนนั้น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน และ คตส.มีความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาท ซึ่ง คตส.ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบุคคลในตระกูลชินวัตร เป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร 16 บัญชี จำนวน 69,000 ล้านบาท ไว้ และส่งสำนวนหลักฐานให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดี ซึ่งครั้งแรกคณะทำงานอัยการที่ อัยการสูงสุดตั้งขึ้นให้พิจารณาสำนวนคดี คตส.นั้น เคยมีความเห็นว่า ควรจะร้องขอยึดทรัพย์ 69,000 ล้านบาทที่ถูกอายัด เงินที่เหลืออีกกว่าหมื่นล้านบาทนั้นยังไม่มีหลักฐานถึงแหล่งของเงินว่าอยู่ที่ใด ดังนั้นเมื่อ คตส.พ้นการทำหน้าที่ไปเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.จึงได้เข้ามาทำหน้าที่แทน คตส. และมีการตั้งคณะกรรมการ่วมอัยการ-ป.ป.ช.ดังกล่าว
สำหรับ บัญชีเงินฝาก 16 บัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตรที่ถูกอายัดไว้ในชั้น คตส.มีดังนี้ ธ.กสิกรไทย 36 ล้านบาท, ธ.กรุงเทพ 18,156 ล้านบาท, ธ.กรุงศรีอยุธยา 2,125 ล้านบาท, ธ.ทหารไทย 10 ล้านบาท, ธ.ไทยพาณิชย์ 39,634 ล้านบาท, ธ.ธนชาต 1,476 ล้านบาท, ธ.นครหลวงไทย 1 ล้านบาท, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 500 ล้านบาท, ธ.ยูโอบี รัตนสิน 492 ล้านบาท, ธ.ออมสิน 15,748 ล้านบาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 200 ล้านบาท, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท, บลจ.กสิกรไทย 208 ล้านบาท, บลจ.ไทยพาณิชย์ 2,237 ล้านบาท, บลจ.แอสเซทพลัส 172 ล้านบาท และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และที่ดิน 2,722 ล้านบาท