“ชูศักดิ์” ติงไม่เหมาะ “ฝ่ายค้าน” อาศัยสมัยประชุมวิสามัญซักฟอกรัฐบาล ยันรัฐบาลทำเต็มที่แล้ว พ้อเข้ามาช่วงบ้านเมืองวิกฤต แผลยังหายไม่สนิท วอนฝ่ายค้าน-ประชาชนเห็นใจ
วันนี้ (16 มิ.ย.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านว่า เป็นเรื่องที่นายกฯ ได้ชี้แจงไปแล้วในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” แต่ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลเพิ่งทำงานมาเพียง 4 เดือนจึงไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไหร่ และการอภิปรายเท่าที่ฟังดูก็เป็นลักษณะของการอภิปรายที่ไม่มีการถอดถอน ซึ่งไม่มีประเด็นของการร่ำรวยผิดปกติ ไม่มีประเด็นทุจริต ดังนั้นจึงน่าจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลทำงานสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะไม่เคารพสิทธิของฝ่ายค้าน แต่เห็นว่าสมัยนี้เป็นสมัยวิสามัญ มีภารกิจที่ต้องทำอยู่หลายเรื่อง และถ้าฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาล นายกฯก็บอกแล้วว่าความจริงที่ผ่านมาการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณฯ มันก็เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจกลายๆ อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า เมื่อใดที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นและข้อเท็จจริง แต่อยากให้มองประเด็นที่ว่าเราเปิดประชุมสมัยวิสามัญขึ้นมาเพื่ออะไรมากกว่า เราไม่ควรอาศัยช่วงเวลานี้มาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่นายกฯพูดก็ชัดเจนแล้วว่าวัตถุประสงค์ที่เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็เพื่อจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 และในอดีตที่ผ่านมาก็จะเปิดเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น แต่ครั้งนี้อาจจะพิเศษกว่าครั้งก่อนๆ หน่อยที่มีกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่ต้องทำให้เสร็จอยู่หลายฉบับ ถ้าไม่ทำก็จะผิดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงได้เปิดตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.และได้วางกันไว้หมดแล้วว่าจะพิจารณากฎหมายใดวันไหน และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะพิจารณาในช่วงท้ายของสมัยประชุมซึ่งจะปิดในวันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งปกติจะมีการยื่นไปพร้อมกันทั้งฉบับเปิดและฉบับปิดสมัยประชุม และมีพระบรมราชโองการลงมาแล้ว และด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของความที่ไม่ควรจะมีการเปิดอภิปรายทั้งลงมติและไม่ลงมติ
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะจัดวันอภิปรายให้ฝ่ายค้านในวันอื่นที่ไม่ใช่วันพุธ-พฤหัสบดีที่จะมีการพิจารณากฎหมาย หรือต้องรอสมัยประชุมหน้า รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับข้อบังคับและประธานสภา ซึ่งปกติเมื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมา ถ้าตรวจสอบแล้วถูกต้อง ประธานอาจจะบรรจุในระเบียบวาระเลย หรือจะรอปรึกษากับทางรัฐบาลก่อนก็ได้ว่าจะนัดวัน เวลาวันใดในการที่จะไปตอบ ส่วนตัวตนเกรงว่าจะติดขัดในเรื่องของเวลา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏว่ายื่นญัตติไปแล้วต้องรอเวลาอีกสมัยประชุมหนึ่งเพราะเป็นสมัยนิติบัญญัติซึ่งอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ แล้วค่อยไปอภิปรายในสมัยต่อไป ซึ่งไม่เคยมี
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปกติแล้วโดยทั่วไปมักจะมีเวลาอยู่ 15 วันหลังจากมีการเสนอญัตติ แต่หากติดขัดในเรื่องของเวลารัฐบาลก็มีสิทธิจะบอกไปได้ว่าไม่พร้อมอย่างไร เมื่อถามว่าจะสามารถใช้มาตรา 129 ขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญอีกครั้งหนึ่งได้หรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า แล้วแต่ฝ่ายค้านที่จะเข้าเสนอกันมา แต่ถ้าให้ถูกก็ต้องนำเสนอผ่านรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงหรือไม่ว่าหากรัฐบาลไม่ยอมให้มีการอภิปรายในสภา อาจจะมีการนำมาอภิปรายนอกสภาได้ โดยเฉพาะการร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรฯ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในท้ายที่สุดก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาว่า รัฐบาลบริหารงานมาประมาณ 4 เดือน และสมัยนี้ก็เป็นสมัยวิสามัญที่จะมีภารกิจรออยู่ชัดเจนว่าจะพิจารณาอะไรบ้าง
เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับรายชื่อรัฐมนตรี 6-7 คนที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ล้วนเป็นรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชนทั้งสิ้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นธรรมดาเพราะเราเป็นพรรคแกนนำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านอ้างเหตุผลไม่สามารถปล่อยให้รัฐบาลนี้บริหารงานต่อไปได้อีกแล้ว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เพราะก่อให้เกิดวิกฤตและความขัดแย้ง มีความเสียหายในบ้านเมือง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นมุมมองการบริหารของฝ่ายค้าน แต่นายกฯ ก็บอกว่าก็ทำเต็มที่แล้ว สำหรับตนอยากบอกว่ารัฐบาลนี้เข้ามาในช่วงวิกฤต มีปัญหาขัดแย้งพอสมควร ไม่ใช่ภาวะปกติ เหมือนแผลที่ยังไม่หายสนิท จึงต้องขอความเห็นใจด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปกติแล้วญัตติที่ยื่นไปแล้วและประธานบรรจุในระเบียบวาระแล้ว รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมาตอบก็ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับบอกว่าให้แจ้งรัฐบาลโดยเร็ว แต่ที่ผ่านมานั้นก็เห็นว่าต้องมีการประสานกันว่าจะหยิบยกญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณากันเมื่อไหร่หากบรรจุแล้ว แต่หากยังไม่ได้บรรจุก็อาจจะหารือกับรัฐบาลก่อนว่าพร้อมเมื่อไหร่ เมื่อถามว่ากรณีของส.ว.ที่ยื่นญัตติแล้ว และประธาน ส.ว.บรรจุในระเบียบวาระแล้ว รัฐบาลพร้อมหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลก็มีสิทธิบอกว่าจะสมควรเมื่อไหร่ อย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากดูสถานการณ์ในขณะนี้แล้วมองได้หรือไม่ว่ารัฐบาลได้ปิดทางการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านไปแล้วใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ก็แล้วแต่ความเห็นของประธานสภา กับความเห็นของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของกฎระเบียบ ข้อบังคับที่มีอยู่ ที่ไม่สามารถดิ้นไปไหนได้ เมื่อถามว่าเท่าที่ประเมินเห็นว่าฝ่ายค้านจงใจอภิปรายเพราะต้องการดักทางไม่ให้มีกระบวนการยุบสภาหรือไม่มีสาระจริง ๆ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เดาไม่ถูก ต้องให้ชั้นเซียนเขาวิเคราะห์