xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ตั้งกรอบเงินเฟ้อปีหน้า 0.5-3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลัง เผย แบงก์ชาติส่งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะใช้กำหนดนโยบายการเงินปีหน้ามาแล้วอยู่ที่ระดับ 0.5-3% จากปีนี้ที่มีกรอบ 0.35% ระบุเป็นกรอบที่เหมาะสมพร้อมนำเสนอครม.ต่อไป

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ได้ดำเนินการจัดทำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ(Inflation Targetting)ที่จะมานำมาเป็นตัวกำหนดนโยบายทางการเงินในปี 2552 เป็นที่เรียบร้อยและได้รายงานต่อกระทรวงการคลังแล้ว โดยจะยังคงยึดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) เป็นหลัก ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการขยายตัวอยู่ที่ 0.5-3% เป็นการขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าปี 2551 ที่กำหนดไว้ 0-3.5% ทั้งนี้ การกำหนดในระดับดังกล่าวเป็นดูแลไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปมากกว่านี้ ซึ่งตนได้เห็นชอบและเตรียมจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

“การที่แบงก์ชาติต้องขยับกรอบเงินเฟ้อพื้นฐานมาอีก 0.5% ให้พ้นจาก 0% ขึ้นมานั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ เพราะเงินเฟ้อเกี่ยวข้องกับระดับราคาสินค้า หากเงินเฟ้อเป็นศูนย์หมายถึงสินค้าไม่ขยายตัว แต่หากเงินเฟ้อติดลบก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และภาวะเงินฝืด แสดงว่าระดับสินค้าตกต่ำ ผลต่อเนื่องไปที่การจ้างงานก็ไม่เกิด ผู้คนก็จะไม่จับจ่าย จะรอซื้อสินค้าราคาตกอย่างเดียว ซึ่งไม่ควรจะเกิด” รักษาการ รมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุที่ ธปท.ไม่ยึดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินแทนการใช้เงินเฟื้อพื้นฐานนั้น เนื่องจากเงินเฟ้อทั่วไปจะนับรวมระดับราคาอาหาร และพลังงานเข้าไปด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีความผันผวนสูง และจะส่งผลต่อการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ เพราะหากเงินเฟ้อสูงก็จะต้องพิมพ์ธนบัตรออกมาเป็นจำนวนมาก

สำหรับกรณีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) นั้น นางธาริษา ยืนยันว่า ธปท.ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กระทรวงการคลังทำหนังสือมายัง ธปท.เพื่อขอให้ดำเนินการ เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการ ธปท.พิจารณาแล้วพบว่ากฎหมาย ธปท.ฉบับใหม่ ไม่อนุญาตให้ทำได้ กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องหางบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องนี้เอง ซึ่งตนจะหารือกับ นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังก็ดำเนินการเร่งปล่อยกู้เอสเอ็มอีผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)อยู่ ซึ่งแม้ว่าจะมีเงินทุนปล่อยได้น้อย แต่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ก็พยายามออกพันธบัตรเพื่อสนับสนุนปล่อยกู้ดังกล่าว โดยขณะนี้เรียกได้ว่าธพว.มีความสามารถในการปล่อยกู้เพียงพอ จึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเองว่าจะเข้ามาขอกู้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (Year-on-Year) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน และยังคงชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ร้อยละ 0.0-3.5 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากราคาอาหารสดและพลังงานลดต่ำลงอย่างมาก

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม (Month-on-Month) ลดลงถึงร้อยละ 1.2 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เป็นสำคัญ สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5
กำลังโหลดความคิดเห็น