xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละมาตรการภาษีแก้เงินเฟ้อ เห็นผลทันทีแต่ผลกระทบอ่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสิกรฯ ชี้ การใช้มาตรการทางภาษี เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เห็นผลได้ทันที แต่อาจมีผลกระทบหลายด้านที่ต้องพิจารณารอบคอบ

วันนี้ (28 ก.ค.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจ โดยระบุถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า เงินเฟ้อได้พุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ ในขณะที่อาจจะยังคงปรับตัวขึ้นไปอีกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ทำให้รัฐบาลไทยได้เร่งออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว โดยนอกจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซลที่ประกาศไปในวันที่ 15 ก.ค.2551 แล้ว

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ยังมีแนวคิดที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การดำเนินมาตรการทางภาษีจะส่งผลต่อราคาสินค้าในทันที โดยมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซล ที่ประกาศในวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น คาดว่า จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมปรับลดลงจากเดือนกรกฎาคมประมาณร้อยละ 0.7-0.8 และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนสิงหาคม ที่แต่เดิมเคยกังวลว่าจะเป็นตัวเลขสองหลักนั้น อาจจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8.0-9.0

นอกจากนี้ หากมีการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ ร้อยละ 1.0 อาจจะลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงได้ประมาณร้อยละ 0.5-0.7 ซึ่งทำให้หากมีการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 3.0 จากปัจจุบันร้อยละ 7.0 ก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงประมาณร้อยละ 2.0-2.8 เมื่อเทียบกับกรณีอัตราภาษีเดิม และทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.5-7.5 จากเดิมที่คาดไว้ที่ประมาณร้อยละ 8.5-9.5 และทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปีอาจต่ำกว่าร้อยละ 7.0 ได้

อย่างไรก็ตาม การลดภาษีอาจทำให้ปริมาณการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่การขยายตัวของความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้โดยสุทธิแล้ว ราคาสินค้าอาจจะไม่ปรับตัวลงมากตามประมาณการในข้างต้น โดยเฉพาะการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะทำให้อำนาจซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ที่แม้ว่าจะเป็นผลดีในยามที่เศรษฐกิจประสบปัญหา แต่ก็อาจทำให้ราคาสินค้าไม่ได้ลดลงไปมากตามสัดส่วนการปรับลดของภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากผู้ประกอบการอาจจะใช้เหตุผลดังกล่าวในการผลักภาระต้นทุนที่ตนต้องแบกรับไว้ในช่วงก่อนหน้าไปยังผู้บริโภค หลังจากที่เห็นว่าบัดนี้ผู้บริโภคมีภาระที่ลดลงแล้วจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะเห็นได้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 เดือนติดต่อกันแล้ว โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2551 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

การใช้มาตรการทางการภาษีดังกล่าวยังอาจมีผลกระทบตามมาต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจ โดยแม้ว่าในระยะสั้นมาตรการทางภาษีน่าที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับลดลงได้ แต่คงจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มาตรการทางการคลังดังกล่าวย่อมมีผลตามมา โดยประการแรกคือผลต่อฐานะการคลังของรัฐบาลเอง ซึ่งอาจต้องประสบกับการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยเฉพาะหากมาตรการภาษีต่างๆ ถูกต่ออายุไปอีก เนื่องจากรัฐบาลยังเกรงว่าประชาชนยังคงไม่สามารถที่จะกลับมารับภาระภาษีตามเดิมได้ รวมไปถึงการที่รัฐบาลยังอาจมีแนวคิดที่จะปรับลดอัตราภาษีประเภทอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

ประเด็นผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ล่าสุด รมว.คลัง แสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอให้พิจารณาปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของกระทรวงพาณิชย์ และประการที่สองคือผลกระทบต่อภาคการเงิน เนื่องจากแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลต่อปริมาณสภาพคล่องในระบบ และทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและสถาบันการเงินไม่ปรับตัวลดลงตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้มาตรการภาษีเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ น่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลงไปทันที ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจประสบปัญหาจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางภาษีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การลดภาษีอาจทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มมากขึ้น และทำให้การปรับลดของราคาสินค้าที่เกิดขึ้นจริงอาจจะไม่มากตามสัดส่วนการลดของอัตราภาษี

นอกจากนี้ มาตรการภาษียังมีผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลต่อฐานะการคลังของรัฐบาลที่อาจต้องประสบกับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลต่อสภาพคล่องในระบบที่อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและสถาบันการเงินไม่ปรับตัวลดลง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะลดลงจากมาตรการภาษีก็ตาม ซึ่งล่าสุด รมว.คลัง ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอให้ปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของกระทรวงพาณิชย์
กำลังโหลดความคิดเห็น