xs
xsm
sm
md
lg

“โกร่ง” ตำหนิ 3 หน่วยงาน เสาหลัก ศก.ไทย ใช้ฐานตัวเลขเงินเฟ้อไม่ตรงกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โกร่ง” ตำหนิ 3 หน่วยงาน เสาหลัก ศก.ไทย ใช้ฐานตัวเลขเงินเฟ้อไม่ตรงกัน เพราะต่างคนต่างทำ ชี้อัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสม 2-5% เพื่อให้จีดีพีโตในระดับสูงกว่า 5% แนะเพิ่มตัวแปรเงินทุนเข้า-ออก

วันนี้ (13 ส.ค.) นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการสัมมนา “รู้ทันเงินเฟ้อรู้ทันอนาคต” โดยระบุว่า การบริหารเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านเงินทุนไหลเข้า-ออกเพิ่มขึ้นมาอีกเป้าหมายหนึ่งด้วย นอกเหนือจากในอดีตที่มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน

นายวีระพงษ์ มองว่า ขณะนี้เป้าหมายแต่ละตัวมีแต่ละหน่วยงานดูแลแยกกันอยู่ ซึ่งต่างก็ดูแลกันไป แต่ละหน่วยงานยังไม่มีการประสานงานให้มีความชัดเจนว่า การดูแลเศรษฐกิจของประเทศควรจะมีเป้าหมายใดเป็นตัวนำ

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อ จะต้องประสานกันในการใช้มาตรการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เหมาะสม ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง หากตัดสินใจผิดจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับอัตราเงินเฟ้อได้แล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบด้วย

สำหรับหรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่เหมาะสมของไทย ควรจะอยู่ในระดับ 5% ขึ้นไป ขณะที่มองอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมไว้ที่ระดับ 2-5%

“ประเทศเราในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถ้าต่ำกว่า 5% ถือว่าเป็นปัญหา ถ้าขยายตัวเกิน 5% แปลว่าใช้ได้ อัตราเงินเฟ้อที่ยึดถือกันมา ก็ควรจะอยู่ต่ำกว่า 5% และไม่ควรต่ำกว่า 2% เพราะหากเงินเฟ้อต่ำกว่า 2% อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตวิทยาเรื่องภาวะเงินฝืด”

“ตอนนี้เรามีหน่วยงานดูและเป้าหมายต่างกัน บางทีไม่คุยกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีผู้ประสานงานเพื่อดูแลและตกลงกันได้ ว่าจะใช้เป้าหมายใด ในขณะใด ควรได้รับการดูแลมากกว่าอีกเป้าหมายหนึ่ง”

เมื่อปลายเดือน ก.ค. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 3 และ 4/51 ที่ 5.3-5.5% ขณะที่ยังคงคาดการณ์จีดีพีทั้งปีนี้โต 5.0-6.0%

ส่วน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพี ปี 2551 เหลือโต 4.8-5.8% จากคาดการณ์ว่า จะโต 4.8-6.0% เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังมองการบริโภคและการลงทุนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้

และเมื่อต้นเดือน ส.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ก.ค.2551 เพิ่มขึ้น 9.2% จากเดือน ก.ค.2550 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยยังเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ CPI เฉลี่ยเพิ่ม 6.6%

นายวีรพงษ์ ยังเห็นว่า นโยบายการคลังเปรียบเสมือนยาหม้อที่ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งออกฤทธิ์ช้าแต่ไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่นโยบายการเงินเห็นผลเร็วแต่ผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นในการเลือกใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะบางทีอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
กำลังโหลดความคิดเห็น