แบงก์พาณิชย์ สรุปสถานการณ์ตลาดการเงินในประเทศ สัปดาห์ที่แล้ว ระบุ เงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังภาคการเมืองเห็นภาพชัดเจน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ เงินบาทได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของค่าเงินในภูมิภาค รวมทั้งการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นในเอเชีย เพราะนักลงทุนต้องการลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
วันนี้ (13 ธ.ค.) สำนักบริหารเงินธนาคารพาณิชย์ รายงานสรุปสถานการณ์ค่าเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (Onshore) ภายในประเทศ สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เงินบาทได้แข็งค่าทะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมระบุว่า ค่าเงินบาทในวันศุกร์ (12 ธ.ค.) แข็งค่าทะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มายืนที่ระดับประมาณ 34.96 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า
ทั้งนี้ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะที่บรรยากาศการเมืองของไทยเริ่มชัดเจนขึ้น และยังได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของค่าเงินในภูมิภาค รวมทั้งการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นในเอเชีย เพราะนักลงทุนต้องการลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (15-19 ธ.ค.) คาดว่า จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.90-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีปัจจัยการเมืองในประเทศ และทิศทางค่าเงินสกุลเงินในภูมิภาค เป็นปัจจัยชี้นำตลาด
นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาดูทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการตอบรับของตลาดต่อการประชุมธนาคารกลาง (เฟด) ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2551 และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตจัดทำโดยเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจจัดทำโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยจัดทำโดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) เดือนธันวาคม 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภค ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้าง ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิต ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจัดทำโดย Conference Board เดือนพฤศจิกายน 2551 ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐเดือนตุลาคม จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 3 ปี 2551
ส่วนสถานการณ์ตลาดเงิน อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังค่อนข้างนิ่ง โดยมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังผ่านช่วงวันหยุดยาว สัปดาห์หน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้ระดับ ร้อยละ 2.75 โดยคาดการณ์ว่า ตลาดการเงินคงจะจับตาผลการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2551