ในระยะยาวค่าเงินออสเตรเลียน่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นอีก เพราะดอกเบี้ยของประเทศออสเตรเลียอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยคงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจของอเมริกา ทำให้ต้องมีการหาช่องทางการลงทุนใหม่ในภาวะแบบนี้ โดยจากการคาดการณ์และวิเคราะห์แนวโน้มกันไปต่างๆนานา
ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ทรุดดตัวจนส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวผันผวนอย่างที่ทราบกัน ในทางตรงกันข้ามส่งผลให้สกุลเงินในประเทศอื่นแข็งค่าขึ้น รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียด้วย และประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลดีจากการส่งออกทรัพยากรทางธรรมชาติ ดังนั้นแดนจิงโจ้แห่งนี้จึงเป็นที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนในขณะนี้
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ ได้เล่าถึงภาวะเศรษฐกิจรวมถึงค่าเงิน ของประเทศออสเตรเลียไว้ได้อย่างสนใจในงาน เสวนา "วิเคราะห์วิกฤตนํ้ามันโลกและโอกาสการลงทุน" ที่ผ่านมา โดย เปิดเผยว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อนั้นอยู่ในระดับที่ตํ่า เป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศได้รับประโยชน์จากการที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.3 % โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกถ่านหิน และแร่เหล็ก ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศที่ทำรายได้เป็นอย่างมากในขณะนี้
ขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศนั้น ออสเตรเลีย มีการดำเนินการในเรื่องของนโยบายดอกเบี้ยไปในทิศทางที่เป็นการกำกับดูแลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยเมื่อปีที่แล้วอัตราดอกเบี้ยของประเทศอยู่ที่ระดับ 6.75% แต่ในขณะนี้มีการปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7.25% และมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเป็นแบบลอยตัว
โดยในส่วนของความเคลื่อนไหวเรื่องค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมาค่าเงินของออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น 8% และยังมีเสถียรภาพมากกว่าค่าเงินยูโร ทั้งนี้มีปัจจัยหลักที่สำคัญซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์ออสเตรเลียมีเสถียรภาพ ประการแรกมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาซับไพรม์ ประการต่อมาคือ ได้รับประโยชน์จากการส่งออกถ่านหิน และเหล็ก และประการสุดท้ายคือ เรื่องของส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่กว้าง
ส่วนทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรต่อไปนั้น นางสาวอุสรา บอกว่า คงจะต้องมองที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐควบคู่กับไปด้วย เพราะจะส่งผลถึงกัน ซึ่งในขณะนี้ปัญหาซับไพรม์กำลังเกิดขึ้นและส่งผลอย่างรุนแรงต่อบรรดาสถาบันการเงินต่างๆ เห็นได้จากกรณีที่เกิดกับ บริษัท แฟนดี แม และ เฟรดดี แมค จนสร้างความหวาดหวั่นให้แก่สถาบันการเงินต่างๆไปตามๆกัน
แต่อย่างไรก็ตามปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้น ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งปีหลังนี้คงจะไม่ไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น และจากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐ หรือ เฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ไม่ได้เป็นการช่วยเศรษฐกิจของสหรัฐแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีการมองกันว่า ในช่วงปีหน้าทาง เฟด เอง อาจจะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 1% เพื่อให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
นางสาวอุสรา กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับอานิสงส์จากการบริโภคภายในประเทศอย่างมาก คิดเป็น 77% ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศเป็นเช่นนี้แล้วทำให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลง และจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงนับอีกเป็นปี และในขณะเดียวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงมีความผันผวนรวมทั้งอ่อนค่าลง จึงส่งผลให้สกุลเงินอื่นแข็งค่าขึ้นรวมทั้งเงินดอลลาร์ออสเตรเลียด้วย
ด้านจุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวถึงค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ว่าปัจจุบันค่าเงินออสเตรเลียมีการแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 8% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทของไทย และคาดว่าในระยะยาวค่าเงินออสเตรเลียน่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นอีก เพราะดอกเบี้ยของประเทศออสเตรเลียอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยคงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ประเทศออสเตรเลียยังเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นทำให้เชื่อว่าค่าเงินของออสเตรเลียจะยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ บลจ. ที่เข้าไปลงทุนในประเทสออสเตรเลียนั้น ได้แก่ บลจ. บีที บลจ. ทิสโก้ รวมถึงล่าสุดคือ บลจ. ไอเอ็นจี โดยเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศออสเตรเลียเพื่อหวังผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยและในส่วนของส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย
ล่าสุด ธนาคารกลางของประเทศออสเตรเลียได้เปิดเผยถึงเรื่องของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีนั้น เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่จะช่วยชะลอเงินเฟ้อได้ ซึ่งจากภาวะดังกล่าวบ่งชี้ว่า ธนาคารจะไม่ปรับเพิ่มดอกเบี้ยในปีนี้อีกแล้ว
โดยเกลน สตีเว่นส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียได้ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นขึ้นอีก 0.25% ไปสู่ระดับ 7.25% เมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 7 เดือนท่ามกลางกระแสความวิตกกังวลต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 17 ปี โดยธนาคารกลางเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อซึ่งพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2534 และยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลงแต่อย่างใด ขณะเดียวธนาคารกลางยังได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียอาจขยายตัวเพียง 2.25% ในปีนี้
นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคและสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบในระยะสั้นๆ แล้วเศรษฐกิจออสเตรเลียยังไม่มีปัจจัยบ่งชี้ใหม่ๆที่ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สอดคล้องกับทางด้านของ สตีเฟ่น โคโคลัส หัวหน้าฝ่ายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและตราสารหนี้ของทีดี ซิเคียวริตีส์ (TD Securities Ltd.) ที่ระบุว่า ทิศทางของเงินดอลลาร์ออสเตรเลียรวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจออสเตรเลียในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายคลึงกับช่วงที่เศรษฐกิจออสเตรเลียเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี พ.ศ.2533-2534 และเชื่อว่าอีกไม่นานธนาคารกลางออสเตรเลียจะประกาศลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2544
โดยเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงกว่า 20% ในปี ค.ศ.2532 ก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากนั้นตั้งแต่เดือนเม.ย.ปี 2544 เป็นต้นมา เงินดอลลาร์ออสเตรเลียก็แข็งค่าขึ้นกว่า 2 เท่า จนแตะระดับ 98.48 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่กว้างมาก
อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ออสเตรเลียอาจร่วงลงอย่างหนักถึง 15% ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี หากวงจรการลดดอกเบี้ยดำเนินไปในทิศทางเดียวกับช่วงก่อนที่เศรษฐกิจออสเตรเลียจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว...