xs
xsm
sm
md
lg

"บัวหลวง"ติวเข้มSMEปรับตัว ชี้"เศรษฐกิจ-การเมืองไม่เอื้อ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์กรุงเทพย้ำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมห่วงเงินเฟ้อกระทบประชาชนทำให้ปรับตัวลำบาก ด้าน สศค. ชี้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะไปในทิศทางใดต้องดูถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แนะธปท.แก้เงินเฟ้อด้วยการทำให้เงินบาทอ่อนค่า ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ระบุปัญหาการเมืองยังไม่จบ

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวในงาน 10 ปี บัวหลวง SME "พันธมิตรแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้"ว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ผู้ประกอบการควรมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้ เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดย10 ปีที่ผ่าน ธนาคารได้พัฒนาปรับปรุงการปล่อยสินเชื่อและพัฒนากลุ่มเอสเอ็มอีมาตลอด

ทั้งนี้ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินฝากปรับตัวลดลง โดยสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ของธนาคารกรุงเทพ ณ สิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มี่จำนวน 380,000 ล้านบาท โดยยอดสินเชื่อไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น3.5-3.8 % ดังนั้นเชื่อว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งปีจะเพิ่มขึ้น 12-15 % ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอี ในปัจจุบันอยู่ที่ 3-4 % ซึ่งถือว่าเป็นเอ็นพีแอลที่ต่ำกว่าในอดีตที่อยู่ที่ 7 % ทั้งนี้ยอดเอ็นพีแอลที่ปรับลดลงเกิดจากการปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี

**ระบุต่างชาติไม่วิตกการเมืองไทย**

นายโฆสิตกล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นห่วงในตอนนี้คือเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ประชาชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทำให้ปรับตัวลำบากมาก และเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะต้องพิจารณาว่าควรใช้นโยบายดอกเบี้ยมาสกัดกั้นเงินเฟ้อหรือไม่ เพราะในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ หากเกิดขึ้นมาก จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ แต่คงไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่า ธปท.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของธปท.ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลจะพิจารณา

"แบงก์ชาติคงต้องพิจารณาให้ดีว่าจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร เพราะการตัดสินใจจะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ส่วนของแบงก์พาณิชย์เองการจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยไปในทิศทางใดนั้นก็คงจะต้องดูองค์ประกอบตลาดโดยรวมเป็นหลัก แต่คาดว่าครึ่งปีหลังนี้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คงจะทำได้ยากขึ้น เพราะแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ประกอบกับกลไกของระบบในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย" นายโฆสิตกล่าว

นายโฆสิต กล่าวว่า จากการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจปีนี้หากจะมีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 5-6% ถือเป็นเรื่องที่รับได้ แต่หากสถานการณ์การเมืองเกิดความรุนแรงและมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงเหลือเพียง 4% แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา และเท่าที่ติดตามและพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่า ส่วนใหญ่นักลงทุนต่างชาติไม่ได้วิตกปัญหาการเมืองของไทยมากนัก เห็นได้จากต่างชาติยังมีการลงทุนในระยะยาว ซึ่งมองผลกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

**แนะใช้บาทอ่อนแก้เงินเฟ้อ**

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2551" ว่า คงต้องดูถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยว่าเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันโครงสร้างของไทยพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมาก จึงทำให้มีความผันผวนสูง ดังนั้นปัจจัยที่ต้องดูประกอบอนาคตเศรษฐกิจไทยนั้นประกอบด้วย เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยน การใช้จ่ายของภาครัฐ และอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ดังนั้น ทางการต้องใช้โอกาสที่มีทุนสำรองเข้าไปดูแลไม่ให้มีความผันผวนมากนัก ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐนั้น ปีนี้รัฐมีการเบิกจ่ายที่ดี แต่ในส่วนของรัฐวิสาหกิจยังมีการเบิกจ่ายที่แย่มาก โดยครึ่งปีหลังจะต้องดูว่าการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจทำได้ดีแค่ไหน ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังไม่ทราบว่าผลของทาง ธปท.จะตัดสินใจอย่างไร แต่ในตลาดขณะนี้ได้คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้น 0.25-0.50% อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ยังอยู่ที่ปัจจัยด้านเงินเฟ้อเป็นตัวสำคัญ

"ไม่เห็นด้วยหากรัฐจะมีการเข้าแทรกแซงราคาสินค้า เพราะการแก้เงินเฟ้อนั้นควรทำด้วยการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และรัฐไม่ควรแทรกแซงราคาสินค้าไม่ให้ขึ้น แต่ควรจะดูแลคนที่เดือดร้อนเป็นจุด ๆ เพราะถ้าอั้นไม่ให้ราคาของขึ้นมันก็จะกลายเป็นปัญหาสะสมได้"
**คาดเงินเฟ้อครึ่งปีหลังแตะ2หลัก

นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาจากภาคการส่งออกเป็นหลัก โดยปีก่อนปัจจัยด้านการเมืองก็มีปัญหาเหมือนกันแต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ ดังนั้นมองว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะมีการขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนหรือมากกว่า เพราะการเติบโตของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ส่วนตัวกระตุ้นจากภาครัฐก็ดีกว่าปีก่อน รวมถึงการลงทุนของเอกชนในปีนี้ก็ได้กว่าปีก่อนเช่นกัน ซึ่งจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ดีขึ้นนั้นน่าจะทำให้อย่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5-5.5%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยในครึ่งปีหลังเชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะขึ้นแตะระดับจุดสูงสุดและปรับตัวลงมาเล็กน้อย ทำให้บางเดือนอัตราเงินเฟ้อก็น่าจะมีการเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% แต่ถ้าดูทั้งปีก็น่าจะลดลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียวหรือประมาณ 8-9%

"ปัจจัยทางการเมืองก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่ถ้าเทียบกับปีก่อนแล้วก็มีปัญหาการเมืองเช่นกันแต่เศรษฐกิจก็ยังไปได้ อย่างไรก็ตามต่อจากนี้การเมืองคงมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน หากยุบสภา ลาออก หรือปรับครม. ก็เชื่อว่าการเมืองจะไม่จบและเป็นปัญหาไปอีกนาน ถ้าการแทรกแซงด้านกระบวนการยังมีอยู่ การเมืองคงจะไม่มีเสถียรภาพไปอีกนานหากรัฐธรรมนูญยังไม่ศักดิ์สิทธิเพราะมีหลายฝ่ายเข้ามาแทรกแซง ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะลาออกทั้งชุด ซึ่งจะเป็นการับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน ส่วนการให้ใบแดงเมื่อวันที่ 8 ก.ค.นั้นเป็นสัญญาณที่ดีทางการเมือง แสดงว่านิติรัฐยังมีความศักดิ์สิทธิ "

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้นคาดว่าทาง ธปท.น่าจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยน่าจะมีการปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า 0.50%ซึ่งน่าจะเป็นการทยอยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
กำลังโหลดความคิดเห็น