xs
xsm
sm
md
lg

SCBT ชี้ศก.ไทยยังน่าห่วง ติงขึ้นดบ.เพิ่มปัจจัยเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนชาร์ดมองเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง 3 ประการ คือราคาน้ำมัน เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลดตัวและการเมืองไทย ที่อาจกดดันจีดีพีปีนี้ให้ขยายตัวอยู่ที่ 4.7% และปีหน้า 4.5% แนะรัฐควรให้ความสำคัญกับจีดีพีมากกว่าเงินเฟ้อ ยันการขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)(SCBT) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้าจะต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง โดยต้องตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและมีความสามารถในการบริโภคลดลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังมีการชะตัวอย่างมีนัยสำคัญจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (ซับไพรม์) รวมถึงปัญหาทางการเมืองของไทยที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจในการใช้จ่ายในอนาคต

"ในแง่ของการเมืองไทยนั้นประเมินว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต จะส่งผลให้โครงการเมกะโปรเจ็กของภาครัฐบาลเกิดความล่าช้า และอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ ชะลอการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย"

ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และครึ่งแรกของปีหน้าจะไม่มีการขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ทางการได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยในปีนี้เศรษฐกิจน่าจะมีการขยายตัวที่ 4.7% และปีหน้าจะอยู่ที่ 4.5% จากเป้าหมายของทางการตั้งไว้ว่าปีนี้จะมีการขยายตัวที่ 5-6% ดังนั้น ทางการควรที่จะให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าที่จะดูแลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นมีสาเหตุจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ และถึงแม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็อาจจะไม่ได้ผลหากราคาน้ำมันก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยังอาจไปเพิ่มปัจจัยเสี่ยงโดยไม่จำเป็นในการถ่วงเศรษฐกิจให้เติบโตต่ำลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวคืนสูงสภาพปกติได้เมื่อปัญหาราคาน้ำมันเพิ่มคลี่คลายลงหรือให้มีการบริโภคน้ำมันลดลงด้วยการประหยัดพลังงานวิธีต่างๆ โดยในปีนี้ประเมินเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ส่วนในปีหน้าประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.8% เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับลดลง เพราะเมื่อราคาของสินค้าดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุด จะส่งผลให้ประชาชนลดการบริโภค และสถานการณ์ต่างๆจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับแนวทางอื่นในเมื่อการใช้นโยบายดอกเบี้ยอาจจะไม่เหมาะสมในการแก้ปัญหานั้น ทางการคงจะต้องทบทวนดูว่าภาษีนำเข้าในรายการใดบ้างที่จะสามารถลดลงเพื่อให้ต้นทุนการผลิตมีการลดลง ส่วนในด้านของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นทางการก็ควรจะดูแลแทรกแซงไม่ให้มีการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเร็วเกินไปก็จะเป็นแนวทางที่พอช่วยได้ส่วนหนึ่ง ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้นมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

"สิ่งที่เราต้องปกป้องตอนนี้คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องของเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อของไทยถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่ายังน้อย ทางเลือกในการใช้นโยบายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดผลได้ไม่คุ้มเสียกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้และปีหน้าที่อาจจะมีการเติบโตไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้"
กำลังโหลดความคิดเห็น