xs
xsm
sm
md
lg

อนาคต..กองทุนพันธบัตรเกาหลี รอผลประชุมเฟดตัดสินความนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ยังคงเป็นกองทุนยอดนิยมของนักลงทุนทั่วไป เห็นได้จากกระแสการลงทุนกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 1 และบริษัทจัดการกองทุนหลายแห่ง ยังทยอยจัดตั้งกองทุนใหม่ออกมานำเสนอนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ ดูจะเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่ได้รับความสนใจเช่นกัน อย่างไรก็ตามการลงทุนในเกาหลีใต้ และการลงทุนในออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ ยังมีความแตกต่าง ส่วนใครจะเลือกลงทุนผ่านกองทุนลักษณะใด ย่อมขึ้นอยู่กับความสนใจ ความเสี่ยง ข้อมูลการลงทุนที่ยอมรับได้ นั่นเอง

“นที ดำรงกิจการ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นครหลวงไทย จำกัด ได้ให้เกียรติ “ทีมงานผู้จัดการกองทุน” มาชี้แจงถึงเหตุในการพิจารณาจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งตราสารหนี้ไทย รวมถึงภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนในช่วงที่ผ่านมา

“ที่ผ่านมาคนยังมีความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เลยหันไปลงทุนในกองทุนระยะสั้นมากขึ้น ทำให้กองทุนระยะสั้น 3 –6 เดือนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ก่อนหน้านี้นักลงทุนให้ความสนใจกับกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่นกอง ECP หรือกองทุนที่ลงพันธบัตรเกาหลีที่ได้ความนิยมมาก เพราะให้ผลตอบแทนได้ในระดับที่สูง” คุณนที กล่าว

ภาพรวมกองทุนรวมใน 6เดือนแรก
ภาพรวมอุตสาหกรรมช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการเติบโตไม่มาก สังเกตุได้จากมูลค่าสินทรัพย์ (NAV) ที่ขยายตัวไม่มากนัก ไม่เหมือนเมื่อ 2 ปีก่อนที่อุตสาหกรรมกองทุนมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องความเสี่ยง โดยเฉพาะเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับตราสารหนี้เกาหลีได้ที่มีผลตอบแทน และเครดิตในระดับที่สูงกว่า แล้วสู้กันไม่ได้ ทำให้การออก กองทุนตราสารหนี้ภาคเอกชนช่วงนี้จะหายไป ขณะเดียวกันผลตอบแทนจากการลงทุนในตั่วบีอีของไทย มีการปรับตัวขึ้นมาประมาณ 30 อาทิตอนนี้ 3.2% ก็ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 3.5% หรือระดับเครดิต A- ขึ้นไป แต่ถ้านำไปเทียบกับของเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ที่ 3.6 % ยังถือว่าสูงกว่ามาก

ส่วนในช่วง 6 เดือนต่อไปนี้ มองว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังมีภาวะผันผวนอยู่ บวกกับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ นั่นคือ ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้เกาหลีใต้ที่มียิลด์สูงอยู่ โดยเฉพาะการลงทุนในระยะสั้น 6 เดือนลงมา ขณะเดียวกันการลงทุนระยะยาวประมาณ 2 ปีในเกาหลีใต้ก็มีความน่าสนใจเช่นกัน เพราะสามารถให้ยิลด์ได้ถึง 5%กว่า ซึ่งอาจจะเป็นบางช่วงที่นักลงทุนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุนจากระยะสั้น มาเป็นระยะยาวบ้าง

“ส่วนตัวในเรื่องผลตอบแทน 2 ปีของเกาหลีที่ยิลด์ได้ถึง 5%กว่านั้น ผมจะเรียกว่า “สภาพวะไม่ปกติ”ทั้งนี้เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่การลงทุนในเกาหลี 2ปี ได้รีเทิร์นถึง 5%กว่า ขณะที่การลงทุนบ้านเราได้เพียง 4.7-4.8% เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องมาจากมาตรการควบคุมค่าเงินวอน และการควบคุมการไหลเข้า-ออกของกระแสเงินต่างชาติของรัฐบาลเกาหลีนั่นเอง”

นอกจากนี้ การลงทุนในเกาหลีอาจได้รับผลประโยชน์จากค่าสวอปค่าเงินด้วยเช่นกัน เช่นสมมุติว่าตอนนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยที่ 30 บาท และเมื่อเวลาผ่านไป 1ปี หรือ 1ปีข้างหน้า อัตรแลกเปลี่ยน 1ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 33 บาท ณ วันนั้นถ้านำ 1 ดอลลาร์ไปแลก ก็เหมือนกับได้กำไรทันที 3 บาท หรือมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 10% นั่นเอง

“อัตราแลกเปลี่ยนที่เราไม่รู้ว่าต่อไปเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ในตลาดมีการทำสวอปเคิร์ฟ (เส้นอัตราผลตอบแทน) หรือเส้นสมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตที่จะทำให้เรารู้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางไหน ซึ่งช่วยให้เราประเมินการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง”

คุณนที กล่าวว่า จริงๆแล้วในโลกนี้ นักลงทุนทุกคนจะคอยจ้องมองว่าตรงไหนมีโอกาสที่สามารถลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการลงทุนในเกาหลีที่มีการควบคุมในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เหมือนกับประเทศไทยเมื่อปี 2540 ที่ควบคุมไว้ 25 บาท/ 1 ดอลลาร์ และก็โดนต่างชาติโจมตีจนพังลงไป ซึ่งอาจเกิดคำถามว่าเมื่อเกาหลีใต้ทำแบบนี้แล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรบ้าง โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศเกาหลีมากกว่า เพราะว่า เขาต้องการดูว่าใครที่เอาเงินเข้าลงทุนในประเทศเขาบ้าง และใครที่เอาเงินออกจากประเทศเขาบ้าง ซึ่งวิธีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ก็เหมือนวิธีควบคุมและดูแลในส่วนนี้ด้วย เหมือนกับการท่องเที่ยว หากทางการไม่เข้ามาควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว ก็จะไม่รู้ว่ามีใครเข้ามาในประเทศบ้าง แล้วเข้ามาทำอะไร แต่ถ้ามีการควบคุม ภาครัฐก็จะรู้ว่ามีนักลงท่องเที่ยวกี่คน และเข้ามาทำอะไรในประเทศบ้าง

ความเสี่ยงจากพันธบัตรเกาหลีใต้
ตอนนี้คนไทยเอาเงินไปลงทุนพันธบัตรเกาหลีเยอะมาก โดยบลจ.ที่ออกกองเกาหลี หมายถึงเราเอาเงินลูกค้าซึ่งเป็นสกุลเงินบาทไปซื้อสกุลวอน ดังนั้นถ้ารัฐบาลมีปัญหาในเรื่องเงินที่จะจ่ายเงินแก่เรา อันดับแรกภาครัฐก็จะออกพันธบัตรเกาหลีเพื่อระดมทุนจากคนในชาติของเขา เพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับเราแน่ เพราะมุมมองของคนเกาหลีก็เหมือนคนไทย ซึ่งจะเชื่อรัฐบาลมากกว่า ดังนั้นเวลาที่รัฐบาลมีปัญหาก็สามารถกู้ยืมเงินจากประชาชนได้

ขณะเดียวกัน เครดิตเรตติ้งได้ที่ AA ขึ้นไป แสดงให้เห็นถึงความสามารถในเรื่องของการชำระคืนหนี้ นอกจากนี้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็มีความแข็งแกร่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเสือตัวหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และเมื่อนำตัวเลขหนี้สาธารณะมาเปรียบเทียบกับจีดีพีแล้วะพบว่าไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้นโดยรวมความเสี่ยงยังพอรับได้ กลับกัน หากเราไปลงทุนในอินเดีย ที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งที่ BB จะน่าลงทุนไหม? เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องการผิดชำระสูง อีกทั้งพื้นฐานของประเทศอินเดียมีคนยากจนเยอะมาก ปัญหาหรือปัจจัยลบทางเศรษฐกิจก็มีอยู่หลายเรื่อง ความเชื่อถือในการลงทุนย่อมที่จะลดลงไปด้วย

กระแสความนิยมพันธบัตรเกาหลีใต้..ในอนาคต
แนวโน้มการลงทุนในเกาหลีใต้ ใจจริงมองว่าอีกครึ่งปีนี้น่าจะหมดแล้ว แต่ทุกอย่างอยากให้มองถึงการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราต้องรอดูนโยบายของเฟดในเรื่องนี้ก่อน เพราะว่าถ้าเฟด ปรับขึ้นนโยบายดอกเบี้ย แล้วเกาหลีไม่ปรับขึ้นตาม เชื่อว่าส่วนต่างผลตอบแทนตรงนี้จะหมดลงหรือไม่มีแล้ว และทำให้การลงทุนในพันธบัตรเกาหลีได้รับความสนใจน้อยลงตามไปด้วย
แต่เท่าที่ดูตลาดช่วงนี้ได้ตอบรับกันมาบ้างแล้วในเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ขณะที่รัฐบาลเกาหลียังไม่มีสัญญาณปรับขึ้นตามเฟดเลย ณ ขณะนี้

“ถ้าไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ก็จะเหมือนกับการค้านกันเอง เหมือนประเทศไทย ที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น แต่ถ้าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยในตลาดก็จะลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามมองว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ยังต้องการให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น”

ความแตกต่างระหว่างเกาเหลี-ออสเตรเลีย
ตราสารหนี้ของ ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ ในเรื่องเครดิตนั้น ไม่แตกต่างกับการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีมากนัก เพราะผู้ออกตราสารหนี้เป็นรัฐบาลเช่นกัน แต่ที่ควรให้ความสนใจในเรื่องรูปแบบการลงทุนจะดีกว่า เพราะการลงทุนในเกาหลีเป็นการลงทุนที่การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้หมดแล้ว ขณะที่การลงทุนในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นนักลงทุนจึงมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มีกว่า ขณะเดียวกันก็อาจมีโอกาสติดลบจากการลงทุนเช่นกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่เท่ากัน แต่ความเสี่ยงในเรื่องเครดิตจะใกล้เคียงกัน คนที่เลือกซื้อ ต้องพิจารณาว่าถ้าเอาชัวร์ ก็ต้องเลือกลงทุนผ่านกองทุนพันธบัตรเกาหลี แต่ถ้าต้องการรับผลตอบแทนที่มากกว่าจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องมาพิจารณาการลงทุนใน 2 ประเทศนี้ เพราะมีโอกาสได้รับส่วนต่างตรงนี้ได้ถึง 10 –20%

“พันธบัตรเกาหลีถ้าเฮดจิ้งแล้วมีผลตอบแทน 5-6% ในนามของบลจ.แล้วก็น่าที่จะจัดตั้งกองทุนออกมาเสนอขาย เพราะให้ยิลด์มากกว่าตราสารหนี้ไทย แต่ถ้าออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ทำเฮดจิ้งแล้วเหลือผลตอบแทนเพียง 1-2% น้อยกว่าไทย ก็ไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งกองทุนออกมานำเสนอ ดังนั้นการลงทุนต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของนักลงทุนด้วยเช่นกัน”

แนวโน้มของพันธบัตรไทย
พันธบัตรไทย ช่วงนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจ ภาพรวมตลาด พันบัตรไทยช่วงนี้ถ้านักลงทุนคนไหนที่สามารถยอมรับการลงทุนในระยะยาวได้ การลงทุนระยะ 1- 2ปี ยังน่าสนใจอยู่ โดยเฉพาะในแง่ผลตอบแทน แม้ตอนนี้ภาพรวมหลายฝ่ายเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ผ่านมา ทำให้หลายคนขยับตัวหันมาลงทุนในระยะสั้นมากขึ้น แต่จริงๆแล้วการลงทุนระยะยาวยังสามารถให้ผลตอบแทนได้ในระดับที่สูงกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น