ภาพรวมของธุรกิจกองทุนรวมในเดือน พฤษภาคมนั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไป (ไม่รวมกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในสถาบันการเงินและกองทุนที่ระดมทุนในต่างประเทศ)จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.5 จาก 1,417,558.2 ล้านบาท ในเดือน เมษายน สู่ 1,424,587.5 ล้านบาท ซึ่งมาจากการขยายตัวในส่วนของกองทุนรวมหน่วยลงทุนซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ถึงร้อยละ 4.7 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1 ) ร้อยละ 4.5 กองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 0.5 ในขณะที่กองทุนผสมและกองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงร้อยละ 0.8 และร้อยละ 0.4
โดยจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นจากเดือน เมษายน รวมทั้งสิ้น 31 กองทุน โดยบลจ.ยังมีการออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายกองแทนกองทุนเก่าที่ทยอยครบกำหนดอายุไถ่ถอน ส่งผลให้โดยสุทธิแล้วจำนวนกองทุนตราสารหนี้เพิ่มขึ้น 27กองจากเดือน เมษายน ส่วนกองทุนประเภทอื่นๆ ทั้ง กองทุนผสม กองทุนรวมหน่วยลงทุน กองทุนตราสารทุน และกองทุนอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างละ 1 กอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไปในเดือน พฤษภาคม ขยับลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 อันเป็นผลจากการปรับตัวลดลงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมหน่วยลงทุนและกองทุนรวมตราสารหนี้ถึงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 0.8 จากการลดลงในส่วนของกองทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศซึ่งมีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนจากการที่ตลาดหุ้นต่างๆทั่วโลกยังให้ผลตอบแทนที่ลดลงเมื่อเทียบจากสิ้นปีที่ผ่านมา
ขณะที่ยังคงมีกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสาร ECP (Euro Commercial Paper) ครบกำหนดไถ่ถอนอย่างต่อเนื่องจากในเดือนที่ผ่านมา ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มร้อยละ 6.6 จากจำนวนกองทุนที่เพิ่มขึ้น 2 กองจากสิ้นปี ขณะที่กองทุนผสมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในขณะที่จำนวนกองทุนรวมทั่วไปเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 45 กองทุน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกประเภท
แนวโน้มในเดือน มิถุนายน
คาดว่า นักลงทุนจะจับตามองตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯที่จะรายงานในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวขึ้นหรือไม่ หลังจากที่รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/51 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกินคาดเล็กน้อยช่วยหนุนมุมมองเชิงบวกว่าเศรษฐกิจอาจพ้นจากภาวะถดถอย ขณะที่ทิศทางของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องการเร่งตัวของเงินเฟ้อ และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯลดความต้องการที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงที่ยังเหลือของปี ซึ่งนักลงทุนคงจะจับตามองการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 24-25 มิถุนายน นี้
ด้านปัจจัยในประเทศนั้น ประเด็นในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งกดดันการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พฤษภาคม เร่งตัวขึ้นเกินคาดสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี โดยมองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเมื่อต้นเดือน พฤษภาคม และราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาจะยังคงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในระยะต่อไป ตลอดจน ยังมีสินค้าอีกหลายรายการซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะปรับขึ้นราคาได้อีก ซึ่งรัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันและค่าครองชีพในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาสที่ 2/2551 ภาวะเงินเฟ้อคงจะส่งผลกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี นอกจากเรื่องของแนวโน้มเงินเฟ้อที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้นจะยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไปให้ชะลอตัวลงแล้ว แรงกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มที่จะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อมากขึ้นอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนโดยเฉพาะนักลงทุนชาวต่างชาติได้ ขณะที่การคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ ได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ปัจจัยในประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ จะส่งผลให้บลจ.ต่างๆยังคงออกกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเนื่องจากการที่เป็นทางเลือกในการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย และเพื่อเป็นแหล่งพักเงินชั่วคราวในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยกำลังจะปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรในประเทศได้เริ่มเข้าใกล้พันธบัตรต่างประเทศมากขึ้น แต่หากว่าส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศกับพันธบัตรในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่จูงใจก็น่าจะช่วยหนุนให้กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังคงได้รับความสนใจ แต่จำนวนของกองทุนดังกล่าวอาจจะเริ่มลดลงในระยะต่อไปได้
ส่วนปัญหาในตลาดซับไพร์มของสหรัฐฯ ทำให้ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินร่วงลงอย่างมาก ส่งผลให้ บลจ.หลายแห่งเริ่มมีการออกกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการคาดว่าปัญหาดังกล่าวน่าที่จะเริ่มลดความรุนแรงลงเพื่อเก็งกำไรจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาหุ้นในอนาคต ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงแม้อาจจะมีความเสี่ยงที่อาจจะเผชิญกับความผันผวนจากการปรับฐานมากขึ้น แต่น่าจะช่วยหนุนความต้องการลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ธุรกิจพลังงานและพลังงานทางเลือก
สรุป
ความกังวลเกี่ยวกับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบการต่อบรรยากาศลงทุนในช่วงเดือน พฤษภาคม อย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ในการประชุมคณะกนง. เมื่อเดือน พฤษภาคม ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันที่ร้อยละ 3.25 ตามความคาดหมายของตลาด แต่ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากที่ได้ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นไปอีกและหากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งขึ้นต่อเนื่องก็พร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในอนาคต ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังคงประมาณการตัวเลขจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 4.5 – 5.5 แต่ได้เพิ่มประมาณการในส่วนของเงินเฟ้อเป็นร้อยละ 5.3-5.8 จากร้อยละ 3.2-3.7 เป็นผลจากราคาน้ำมัน ราคาสินค้าในหมวดต่างๆและราคาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดนั้นตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พฤษภาคม ของไทยได้เร่งตัวขึ้นเกินคาดสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปีที่ร้อยละ 7.6
ทั้งนี้ สัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศกำลังเปลี่ยนเข้าสู่แนวโน้มในช่วงขาขึ้น สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจน ธนาคารพาณิชย์บางรายได้ทำการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้แล้วคาดว่าจะทำให้การแข่งขันเพื่อดึงดูดเงินออมของผู้ลงทุนระหว่างเงินฝากกับกองทุนรวมมีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะต่อไป ในขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่มีความผันผวน และเศรษฐกิจในภูมิภาคหลายแห่งที่เริ่มประสบกับปัญหาทางด้านเสถียรภาพของราคา รวมถึง ภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน อาจจะทำให้นักลงทุนต้องพิจารณ
ทีมา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย