xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ไม่กังวลผลประชุมเฟด มั่นใจกระทบไทยแค่เล็กน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุน ยืนยันไทยได้รับผลกระทบเล็กน้อย หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย ชี้ปัจจุบันยังไม่สัญญาณเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาเก็งกำไรในประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยราคาสินค้าเกษตรพุ่ง พร้อมเชื่อมั่นสหรัฐแก้ไขสถานการณ์ในครั้งนี้ แต่สัญญาณพิษซับไพรม์ยังไม่คลี่คลาย

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวถึงการประชุมนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในวันนี้ (30เม.ย.)ว่า เฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เพราะเฟดต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยยังมีปัญหาเรื่องสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์)เเละราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะเดียวกันเชื่อว่าเฟดคงไม่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำไปกว่านี้เเล้ว เนื่องจาก สหรัฐยังเป็นกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้การที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะกระทบกับประเทศไทยน้อยมาก โดยเฉพาะในเเง่ของการเข้ามาเกร็งกำไรของนักลงทุนชาวต่างประเทศ เพราะจากข้อมูลที่ติดตามนับตั้งเเต่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยมา ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการเข้ามาเกร็งกำไรทั้งในภูมิภาคเอเชีย เเละในประเทศไทยเลย

ขณะเดียวกัน ตอนนี้ประเทศไทยกำลังได้รับอานิสงส์เรื่องของราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชากรที่ประกอบอาชีพการเกษตรกว่า 15 ล้านคนมีรายได้เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยให้ไทยได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ลดลงด้วย

"การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่น่าจะมีผลต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ของกนง.เพราะบ้านเรากังวลในเรื่องเงินเฟ้อ โดยเดือนเมษายน นี้ ดอกเบี้ยได้ยืนอยู่ที่ 3.25 เเล้ว ซึ่งผลตอบเเทนราคาตราสารหนี้อยู่ในช่วงสูงขึ้น แต่ราคาตราสารหนี้ก็อาจจะมีเเนวโน้มลดต่ำลง ถ้าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงไม่ปรับลดลงหรือในช่วงขาลง จึงอยากเเนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นๆ" นายประภาส กล่าว

เชื่อสหรัฐแก้ไขปัญหาได้
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า การประชุมนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบนี้ว่า จะมีแนวโน้มในการลดดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และต้องการแสดงเจตนาที่แท้จริงว่าไม่ได้มุ่งเน้นที่จะอุ้มสถาบันการเงิน เพียงแต่ต้องการให้ระบบการเงินในประเทศดำเนินไปได้อย่างปกติมากกว่า

"เฟดแสดงเจตนาที่ชัดเจนแล้ว่าจะไม่อุ้มสถาบันการเงิน แต่ถือว่าเป็นเดิมพันที่สูงเพราะหลายคนคิดแบบนั้น เพียงแค่ต้องการให้ระบบการเงินในประเทศเดินไปตามปกติ ซึ่งการประชุมครั้งนี้น่าจะมีการลดดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังชะลอตัวอยู่ในขณะนี้"

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจของสหรัฐ เชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายในทางที่ดีได้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นมีอยู่สูง ซึ่งหลายครั้งที่เกิดวิกฤตเช่นในปี 1930 ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญ และเชื่อว่าสหรัฐเองคงจะไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้นอีก โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ถึงขั้นวิกฤตแบบที่เคยเป็นมา

นายพิชิต กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กับเฟดนั้น น่าจะเป็นเรื่องส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้ากดดันค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยการตัดสินใจของ กนง.จะขึ้นอยู่กับภาพรวมทางเศรษฐกิจว่าต้องการให้เป็นไปในทิศทางใด ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อเองยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ทำให้มีทางเลือกในการตัดสินใจได้อยู่พอสมควร

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยนอกเหนือจากการพิจารณาอัตราเงินเฟ้อแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในการเพิ่มอุปสงค์ยังเป็นอีกตัวแปรหนึ่งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ โดยหากนโยบายต่างๆ ที่รัฐนำออกมาใช้ยังไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ สุดท้ายแล้วอาจมีการพิจารณานำนโยบายด้านการเงินออกมาใช้เพื่อผลักดันเศรษฐกิจต่อจากนี้ได้เช่นกัน

แวว..ซับไพรม์ยังไม่คลี่คลาย
นายนที ดำรงค์กิจการ ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บลจ.นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่าจากการที่เฟดได้ประกาศอัดฉีดเงินเข้าระบบอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประเมินว่า ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกายังไม่คลี่คลายลงเท่าทีควร โดยสังเกตุได้จากการประกาศผลดำเนินงานของธนาคารพิณิชย์ของสหรัฐอเมริกาหลายบริษัทมีการขาดทุนจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุให้เฟดต้องอีดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบลงไปอีก เพื่อเป็นการเพิ่มความระมัดระวังให้สูงขึ้น

ขณะเดียวกัน หากปัญหาซับไพรม์ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งหากเฟดมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศที่มีปริมาณหรือยอดการบริโภคสูง หากตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลง ก็จะส่งผลให้จีดีพีของประเทศปรับตัวลดลงตาม อีกทั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า เรื่องดังกล่าวจะมีผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนในประเทศไทยน้อยมาก โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ที่เข้าลงทุนในโปรดักต์การเงินในต่างประเทศ เนื่องจากหลายๆกองทุนที่ได้ทำการเปิดจำหน่ายไปแล้ว แทบทุกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแล้วแต่ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว

“ตลาดการเงินทั่วโลกนั้นมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกที่ ส่วนจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายป้องกันและแก้ไขของธนาคารกลางประเทศนั้นๆ ขณะเดียวกันการประชุมของเฟดวันนี้ มองว่าเฟดยังมีเครื่องมือที่จะสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อีกหลายวิธี”

ส่วนความกังวลในกรณีว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ของกองทุนต่างๆที่ได้เปิดให้ซื้อขายจะปรับตัวลดลงนั้น นายนที กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีความน่ากังวลเพียงแต่อย่างใด เพราะทุกกองทุนโดยเฉพาะกองทุนของบริษัทได้ทำการประเมินความเสี่ยงดังกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้คำนวณไว้ในคาดการณ์ผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนที่ได้นำเสนอขายออกไป ทำให้เชื่อว่าอัตราผลตอบแทนกองทุนพันธบัตรเกาหลีของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับเท่าเดิม

ก่อนหน้านี้ นางสาว จารุลักษณ์ เรื่องสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บลจ. แอสเซท พลัส จำกัด ได้ให้ความเห็นถึงสาเหตุที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีแนวโน้มลดลงว่า สาเหตุที่ผลตอบแทนลดลงเป็นเพราะมีความวิตกกังลวเกี่ยวกับการประชุมของธนาคารกลางประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ เฟด ซึ่งการประชุมของเฟดนั้นอาจส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้บ้างเล็กน้อย แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนมากเท่าไร

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้น่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 930-970 จุดได้ เนื่องจากได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้ตลาดหุ้นจะยังทรงตัวเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาช่วยกระตุ้น

สำหรับ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีความสนใจที่จะเข้าลงทุนในหุ้นบางกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดี อาทิ กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมทั้ง กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมกะโปรเจ็ก และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้คาดว่านักลงทุนจะเข้ามาลงทุนกับบริษัทในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

ส่วนของผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ตามเดิม เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้ออยู่

รายงานแจ้งว่า นอกจากกระประชุมในเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว เฟด ยังเตรียมหารือมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดเงินรอบใหม่ โดยคาดว่า อาจมีการเสนอให้เฟดจ่ายดอกเบี้ยการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบธนาคาร ซึ่งการการหารือดังกล่าวจะมีขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ย ที่คาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทั้งนี้หากมีการเสนอแนวคิดการให้ดอกเบี้ยดังกล่าวแก่ธนาคารพาณิชย์ เฟดจะต้องเสนอผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งไม่ให้อำนาจเฟดจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวจนกว่าจะถึงปี 2011 โดย นักวิเคราะห์คาดว่า หากเฟดได้รับความเห็นชอบ เฟดจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา เฟดประกาศจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินอีก 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมาตรการดังกล่าวจะอยู่ในรูปของการจัดการวงเงินกู้ให้กับวาณิชธนกิจรายใหญ่ เพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 ในรอบปีนี้ ส่วนการอัดฉีดสภาพคล่อง 4 ครั้งที่ผ่านมานั้น คิดเป็นวงเงินรวม 1.58 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่ในรูปของการจัดหาวงเงินกู้ให้กับวาณิชธนกิจ

ทั้งนี้ เฟดระบุว่า มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินและคลี่คลายภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ นอกจากนี้ เฟดยังส่งเสริมให้วาณิชธนกิจพึ่งพาซึ่งกันและกัน

สำหรับวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อของสหรัฐเข้าขั้นรุนแรงสุดในช่วงต้นปีนี้ หลังจากแบร์ สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ประสบปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องยื่นขอวงเงินกู้ฉุกเฉินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดวอลล์สตรีทและฉุดชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างหนักเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น