xs
xsm
sm
md
lg

กนง.ส่อกลับลำหั่นดอกเบี้ยแย้มลดน้ำหนักเงินเฟ้อ-TDRIจี้ขึ้นค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ธปท.ส่ออ่อนข้อลดดอกเบี้ย เผยการประชุม กนง. 9 เม.ย.นี้ ไม่ดูแค่เงินเฟ้ออย่างเดียว แต่จะพิจารณาจากภาพรวมเศรษฐกิจ ย้ำเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 5.3% ยังไม่น่าห่วง พร้อมทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ทีดีอาร์ไอจี้รัฐใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นกลไกปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ แนะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กทม.เป็น 204 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10 บาท

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ จะให้น้ำหนักทั้งอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ขณะเดียวกันจะทบทวนประมาณการและปัจจัยทางเศรษฐกิจในปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะยังอยู่ในกรอบที่ได้คาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8-4.0% แม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในช่วงต้นปี แต่ก็คาดว่าจะทยอยปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2/51 ซึ่งก็คงต้องขึ้นกับแนวโน้มราคาน้ำมันด้วย

แม้ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังอยู่ในระดับสูงถึง 5.3% และเฉลี่ยไตรมาส 1/51 ที่ 5.0% ก็ยังถือว่าเป็นไปตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 4-5% ซึ่งเป็นกรอบด้านสูง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ช่วงไตรมาส 1/51 ที่ระดับ 1.5% เป็นไปตามประมาณการในช่วง 1-2% เช่นกัน

"แม้ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นในช่วงนี้ แต่ราคาน้ำมันเริ่มลดลงบ้างแล้ว ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็ควบคุมราคาสินค้าไว้ได้ส่วนหนึ่ง และมีการทยอยปรับขึ้นราคาไปบ้าง ซึ่งจุดนี้ช่วยควบคุมการเร่งตัวของเงินเฟ้อได้" นางอมราส่งสัญญาณ

ทั้งนี้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่รัฐบาลได้ทยอยประกาศออกมา ทำให้รายได้ของคนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้การใช้จ่ายเร่งตัวขึ้นด้วย ขณะที่โครงการพัฒนาศักยภาพหมูบ้านและชุมชนเมือง (SML) ก็มีความชัดเจนมากกว่าโครงการอยู่ดีมีสุข จึงช่วยให้เศรษฐกิจมีโมเมนตัมขยายตัวต่อไปได้แม้เงินเฟ้อจะเร่งตัว ก่อนที่รัฐบาลจะมีมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวในช่วงปลายปีนี้ เช่น การใช้จ่ายเงินผ่านรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

ด้านสมมติฐานราคาน้ำมัน นางอมราระบุว่า ขณะนี้แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นไปเกินกว่า 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ก็ถือว่ายังอยู่ภายใต้สมมติฐานขั้นสูงที่ ธปท.ประเมินไว้ที่ 96 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่สมมติฐานขั้นกลางอยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังและผู้ประกอบการเรียกร้องให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่ผู้บริหาร ธปท.รวมทั้งนางอมรา ออกมาส่งสัญญาณค่อนข้างชัดว่า การประชุม กนง.วันที่ 9 เม.ย. จะไม่มีการลดดอกเบี้ย เนื่องจาก กนง.จะให้ความสำคัญกับการดูแลเงินเฟ้อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจภายใน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) เปิดเผยถึงการประชุม กนง. วันที่ 9 เม.ย.นี้ว่า ปัจจุบันทิศทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยดูยาก เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงยังน่าเป็นห่วง ในขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทก็ยังน่าเป็นห่วงเช่นกัน ธปท.ต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบาย เพราะนโยบายต้องเป็นนโยบายที่เกิดประโยชน์กับประเทศที่สุด

"การจะลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ไม่ได้ดูที่เงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องการไหลเข้าออกของเงินทุนด้วย" นายอภิศักดิ์กล่าว

TDRIเสนอรัฐใช้เงินเฟ้อปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงรายงานผลวิจัยนโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยเมื่อปี 2541 และได้หยุดปรับเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะปรับอีกครั้งในปี 2544 ซึ่งการปรับขณะนั้นไม่ได้เป็นการปรับตามอัตราเงินเฟ้อที่ถือว่าเป็นปรับที่น้อยมาก อย่างไรก็ตามตั้งแต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2541 ถึงปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริง โดยเฉพาะแรงงานในกรุงเทพฯ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำกลับลดลงถึง 13%

"ที่ผ่านมาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นไปตามกลไกตลาด จากตัวเลขแรงงานมีฝีมือทั้งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างเอกชนที่อยู่ในระบบวิชาชีพกับแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคก่อสร้าง มีจำนวนมากที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและได้รับค่าจ้างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งถือว่ากลุ่มแรงงานไร้ฝีมือมีมากกว่าแรงงานมีฝีมือเกิน 50% และหากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามกลไกลตลาดก็จะทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำๆ มาก ซึ่งมีเหตุผลทำให้ขณะนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน"

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง จะดูถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขันของนายจ้าง ต้นทุนการผลิต ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ และปัยจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นหากจะให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรมโดยดูเพียงมาตรฐานของแรงงานจะต้องดำเนินการให้ทันกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งจะอาจจะให้ทัน 1 พฤษภาคมนี้

“ถ้าดูเฉพาะอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 คาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ 5% เฉพาะฉะนั้นอย่างกรุงเทพฯ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 194 บาท ก็ควรจะเพิ่มเป็น 204 บาท คือ ปรับอัตราเพิ่มอีก 10 บาท ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ก็อาจจะไม่เท่ากันเพราะต้องดูอัตราเงินเฟ้อเดิมอยู่ที่เท่าใด รวมทั้งการพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในระดับจังหวัดด้วย ดังนั้นอัตราการปรับเพื่มก็อาจไม่เท่ากัน”

ขณะเดียวกันยังพบว่า หากมีการปรับขึ้นมาตรฐานการดำรงชีวิตของแรงงานก็จะเท่าเดิม เพราะเป็นสิ่งที่เพิ่มเพื่อให้ทันกับการปรับตัวของราคาสินค้าชนิดอื่นที่จะตามมาเท่านั้น ขณะที่มีแรงงานจำนวนหนึ่งถึง 20% ที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศ แต่ก็ถือว่าลดลงมากจากในปี 2540 ที่มีถึง 40% นอกจากนี้ยังพบว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ยังควรที่จะมีการดำเนินการต่อไปแต่ก็ควรจะปรับให้สูงกว่าราคาตลาดด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น