บิ๊กพลังงาน แหยงประกาศลอยตัวก๊าซ “แอลพีจี” ผวาดีมานด์พุ่งจนฉุดไม่อยู่ บ่งชี้ภาครัฐอ่อนหัด-ไร้แผนฉุกเฉินรับมือวิกฤตพลังงาน โทษราคาตลาดโลก และรถยนต์ที่แห่ติดก๊าซพุ่ง เป็นตัวต้นเหตุ ล่าสุด เตรียมใช้อำนาจบีบคอผู้ค้ามาตรา 7 แบกภาระนำเข้าร่วมกับ ปตท.“พูนภิรมย์” คาดได้ข้อสรุปเบื้อต้น สัปดาห์นี้
วันนี้ (4 ส.ค.) นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานการปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) กล่าวถึงความคืบหน้าในการประกาศลอยตัวราคาก๊าซภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปราคาแอลพีจีได้ เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรการนำเข้าแอลพีจี ในกรณีที่ปริมาณความต้องการใช้แอลพีจีเพิ่มขึ้นมาก จากปัจจุบันที่มีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT นำเข้าเพียงรายเดียว ส่วนตัวมองว่าควรที่จะให้ผู้ค้ามาตร 7 รายอื่น สามารถนำเข้าแอลพีจีได้ด้วย
นายพรชัย ยอมรับว่า ภาวะตลาดในปัจจุบัน ปตท.มีความสามารถในการรองรับการนำเข้าแอลพีจีเพียง 60,000 ตันเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้ค้ามาตรา 7 บางรายอาจกังวลเกี่ยวกับเงินชดเชยส่วนต่างราคาแอลพีจี ดังนั้น คณะทำงานจึงต้องเร่งเพื่อหาข้อสรุปด้านตัวเลขดังกล่าวให้ชัดเจนด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่คณะทำงานจะต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ มาตรการป้องกันการรั่วไหล หรือการใช้ผิดประเภท รวมทั้งข้อสรุปด้านการปรับราคาแอลพีจีด้วย ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องแอลพีจี เพราะหากดีมานด์แอลพีจีเพิ่มขึ้น ใครจะเป็นผู้นำเข้าให้ผู้ค้ามาตรา 7 สามารถนำเข้าได้ด้วยหรือไม่ ส่วนสัปดาห์หน้ายังไม่ทราบว่าจะเสร็จหรือไม่ การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นอกจากนี้ รัฐบาลคงไม่บังคับให้เพิ่มปริมาณสำรองแอลพีจี แน่นอน
ด้านข้อมูลเบื้องต้นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) น่าจะเสนอตัวเลขการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งและอุตสาหกรรมขึ้นอีก 5 บาทต่อลิตร โดยเชื่อว่า เป็นระดับที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ประชาชนสามารถรับได้ และทยอยปรับตัวไปใช้พลังงานทางเลือกอื่น อาทิ ก๊าซเอ็นจีวี
สำหรับแผนเบื้องต้น เชื่อว่า จะยังคงยึดสูตรโครงสร้างการปรับราคาแอลพีจีแบบขั้นบันได คือ อิงราคาในตลาดโลก โดยงวดนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปัจจุบันอยู่ที่เพียง 5% เท่านั้น และหลังจากนั้นก็จะขยับขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละไตรมาส
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐบาล มองว่า แม้จะมีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีระดับดังกล่าวแล้ว ก็คงไม่สามารถชะลอการใช้ภาคขนส่งได้มากนัก เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันขณะนี้ หากปรับราคาขึ้น 5 บาทจริง ราคาขายแอลพีจีก็จะอยู่ที่ 16-17 บาทต่อลิตรเท่านั้น
ส่วนกระแสข่าวที่ออกมาว่า 10-11 บาทต่อลิตรนั้น เชื่อว่าเป็นการโยนหินถามทางของรัฐบาล และเป็นระดับราคาที่สูงเกินไป แต่รัฐบาลก็เชื่อว่า ตัวเลข 10-11 บาทนี้ คงเป็นระดับที่ชะลอการใช้ในภาคขนส่งได้
พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับราคาแอลพีจี ขอระยะเวลาพิจารณาตัวเลขการปรับขึ้นราคา ปริมาณการใช้และการป้องกันการรั่วไหลแอลพีจีจากภาคครัวเรือน ไปใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมอย่างรอบคอบอีกครั้ง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้
**ปตท.ไร้แผนรับมือวิกฤตพลังงาน โทษคนใช้รถแห่ติดก๊าซ
นายสุรวงค์ บูลกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเดิมเคยใช้เพียง 3 ล้านตัน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านตันในปีนี้ ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 14.2 เปอร์เซนต์ และส่วนใหญ่เป็นการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ในรถยนต์ สูงถึง 22.7 เปอร์เซนต์ และถ้ายังคงใช้ในปริมาณที่มากเช่นนี้ต่อไปอีก คาดว่า ปีหน้าอาจจะต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นจากที่เคยใช้ในปัจจุบัน อีก 1 ล้านตัน
“เมื่อแก้ปัญหาเรื่องการนำเข้าเพื่อให้เพียงพอความต้องการใช้ในขณะนี้ได้แล้ว ปัญหาที่น่าหนักใจสำหรับ ปตท.คือ ที่ผ่านมา ปตท.ต้องแบกรับภาระความต่างในเรื่องของราคาก๊าซแอลพีจีที่ขายอยู่ในเมืองไทย ที่ขายอยู่ที่ 332 ดอลลาร์ต่อตัน ในขณะที่ราคานำเข้าอยู่ที่ 950 ดอลลาร์ต่อตัน ต้องแบกรับความต่างไว้กว่า 600 ดอลลาร์ต่อตัน และแม้ความต่างที่ว่านี้รัฐบาลจะช่วย แต่ที่ผ่านมาติดในเรื่องเงื่อนไขของเวลา และอีกหลายอย่าง ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะสามารถแบกรับภาระไว้ได้นาน และคิดว่าคงแบกรับภาระนี้ได้แค่เพียงสิ้นปีนี้เท่านั้น เพราะถ้าให้ยาวนานไปถึงปีหน้าด้วยคงไม่ไหว”
**บางจากแนะใช้พลังงานทดแทนล้อมคอก
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกขณะนี้ แม้ราคาจะปรับลดลงอยู่ที่ 124 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าไม่มีทางจะเห็นราคาลดต่ำมาที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แน่นอน โดยวงการน้ำมันคาดว่าราคาน้ำมันจะไม่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเมื่อไทยจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 80% ดังนั้น นโยบายพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และก๊าซธรรมชาติ ต้องมีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งเห็นว่า ภาครัฐต้องมีหน่วยงานเป็นเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน เช่น คณะกรรมการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ