xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.มูลค่าวูบ4แสนล. หุ้นไทยผันผวนติดลบ-โบรกฯแนะถือเงินสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทยผันผวนตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่ทรงตัวอยู่ในแดนลบ ลุ้นราคาน้ำมันโลก-กำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2 ระบุตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติแห่ทิ้งหุ้นกลุ่ม ปตท. กดดันมาร์เกตแคปลดเหลือแค่ 6.7 แสนล้านบาท ลดลงเกือบ 4 แสนล้าน หรือกว่า 36% ขณะที่มาร์เกตแคปตลาดวูบ 1.40 ล้านล้านบาท หรือ 21% ด้านโบรกเกอร์ แนะชะลอลงทุน ถือเงินสดเกิน 50% ของพอร์ตทั้งหมด

ตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยต้องประสบสารพัดปัจจัยลบทั้งเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่อึมครึม ผสมโรงด้วยปัจจัยต่างประเทศทั้งเรื่องของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ จนส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก รวมถึงปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้อัตราเงินเฟ้อทยานเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยการเปรียบเทียบดัชนีตลาดหุ้นระหว่างช่วงปลายปี (31 ธ.ค. 50) และล่าสุด (18 ก.ค. 51) พบว่าดัชนีปรับตัวลดลงจาก 858.10 จุด มาอยู่ที่ระดับ 664.52 จุด หรือลดลง 193.58 จุด คิดเป็น 22.56% ขณะที่มูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ลดจาก 6.64 ล้านล้านบาท เหลือ 5.24 ล้านล้านบาท หรือลดไป 1.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21.08%

ผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มปตท. ทั้ง 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.ปตท (PTT) บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP) บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) บมจ. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) PTTEP บมจ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ ไทยออยล์ (TOP) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าตลาดรวม ขณะที่ PTT เพียงบริษัทเดียวยังคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 10%

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดรวมของกลุ่มปตท. ปรับตัวลดลงจาก 2.23 ล้านล้านบาท เหลือ 1.50 ล้านล้านบาท หรือลดลงประมาณ 7.26 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 32.56% โดย PTTAR มีสัดส่วนมาร์เกตแคปลดลงมากสุดถึง 52.86% และ PTTEP สัดส่วนลดลงน้อยสุดแค่ 12.77% ส่วน PTT บริษัทเดียวมาร์เกตแคปลดลงจาก 1.06 ล้านล้านบาท เหลือ 0.67 ล้านล้านบาท ลดลง 3.88 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 36.66% (ตารางประกอบข่าว)

****ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน***
นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงต้นสัปดาห์มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นระยะสั้น แต่ยังมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะทยอยออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงอยู่ รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกยังทรงตัวอยู่ในแดนลบ โดยแนะนำให้ชะลอการลงทุน หรือถือเงินสดมากกว่า 50% ของพอร์ดเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน แนวรับอยู่ที่ 650 จุด และแนวต้าน 680 จุด

นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนจากวิกฤตซับไพรม์รอบใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลลบต่อตลาดการเงินและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในภาคธุรกิจทั่วโลก จนอาจเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่คุกคามต่อตลาดการเงินในระดับมหภาค ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายหุ้นเพื่อนำเงินไปสำรองผลขาดทุนและป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่อง

ขณะเดียวกันนักลงทุนจะต้องติดตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก แม้จะปรับตัวลดลงมาค่อนข้างแรงติดต่อกันหลายวัน แต่คาดว่าจะเป็นแค่การขายทำกำไรในช่วงสั้นๆ หลังจากนี้ยังคาดว่าราคาน้ำมันอาจดีดตัวขึ้นแรงและนำพาความกังวลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นจึงแนะนำให้ชะลอการลงทุน แนวรับที่ 660 จุด และแนวต้านที่ 700 จุด
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้จะยังคงผันผวนโดยอาจจะมีการเก็งกำไรในผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำให้ดัชนีปรับขึ้นได้ในกรอบแคบๆ เท่านั้น ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันว่าเป็นไปในทิศทางใดด้วย เพราะหุ้นกลุ่มพลังงานถือเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุดในตลาดหุ้นของไทย

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ว่า ดัชนีตลาดหุ้นอาจปรับตัวผันผวนและเคลื่อนไหวตามทิศทางของราคาน้ำมันและแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ แม้ว่าอาจจะมีแรงซื้อเก็งกำไรในผลประกอบการในกลุ่มแบงก์อย่างต่อเนื่อง โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 660 และ 595 จุด และแนวต้าน 704 และ 734 จุดตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ยังต้องรอดูการแก้ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นทางการเมืองในประเทศด้วย ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ การเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. 51 ตัวเลขสตอกน้ำมัน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมถึงยอกขายบ้านใหม่ เป็นต้น

***ปตท.ราคามีสิทธิรูดลงต่อ***
นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ รูดลงหนักเป็นผลจากกาเทขายของหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มปตท. ที่ลงแรงเกินคาด สืบเนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาโดยไม่สนใจปัจจัยพื้นฐานแล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติกังวลวิกฤตซับไพรม์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินสหรัฐฯ

"เราแนะนำให้ลงทุนหุ้นบิ๊กแคป พื้นฐานดี เพราะถือว่าคุ้มทุน หลังจากราคาลงมาหนักมาก ต่ำเกินปัจจัยพื้นฐาน ยกตัวอย่างหุ้นกลุ่มปตท. ที่เหมือนกับซื้อหุ้นแม่แล้วได้หุ้นลูกแถม และเชื่อว่าราคาจะลงอีก และควรลงทุนในระยะกลางและยาว ถือเป็นการลงทุนซื้ออนาคต"

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานว่า ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศได้ทยอยขายหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาเป็นจำนวนมาก กดดันให้ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง และ P/E Ratio ค่อนข้างต่ำ หรืออยู่ประมาณแค่ 9 เท่า และคาดว่าจะปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 8 เท่าในปี 2552 ซึ่งถือว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจและกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

ขณะที่ปัจจัยลบอีกประการหนึ่งคือ ในวันที่ 25 ก.ค. 51 เวลา 10.00 น. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้นัดรวมตัวกันที่ ปตท. สำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องและทวงคืนบมจ.ปตท. ที่ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนการเมืองคือในกับประชาชนทั่วไป

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) เคยกล่าวยอมรับว่า ขณะนี้มีปัจจัยลบในประทศเรื่องของการเมือง และเศรษฐกิจที่สร้าความกังวลให้กับนักลงทุนต่างประเทศจึงได้เทขายหุ้นกลุ่มปตท. ออกมา ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาก แต่ยังมั่นใจนักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มปตท.แน่นอน หากกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง
ด้านผลการดำเนินงานของปตท. นั้น ในปี 51 นี้ ปตท. คาดว่าจะต้องแบกรับภาระค่าพลังงานประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท จากกรณีที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาพลังงานทั้งน้ำมัน, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น