xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ แยกราคาแอลพีจี 2 ตลาด อาจกลายเป็นชนวนปัญหาใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ฉายภาพปัญหาราคาก๊าซ LPG ได้สะสมมาอย่างยาวนาน และเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ใช้ในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ออกมา แต่ก็ไม่ควรจะปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปนานมากนัก “ลูกกรอก” ผวาประชาชนแห่กักตุนกันอื้อ

วันนี้ (23 ก.ค.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานภาวะความสับสนของประชาชนต่อท่าทีของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหามากมายในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ เนื่องจากหากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมาจะเหมือนกับว่ารัฐบาลได้เลือกแนวทางการตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ทั้งระบบอยู่ต่อไป ประชาชนจะยิ่งรู้สึกว่าราคาก๊าซแอลพีจี มีราคาที่ถูกกว่าน้ำมัน เชื้อเพลิงประเภทอื่นอย่างมาก จนทำให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีกันมากขึ้น และสั่งสมพฤติกรรมการใช้ก๊าซปริมาณมากจนเกิดความเคยชินที่ยากจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ สะสม และขยายวงกว้างมากขึ้น เช่น การลักลอบส่งออกก๊าซแอลพีจีไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าก๊าซแอลพีจีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐจะต้องแบกรับส่วนต่างราคาขายในประเทศและต่างประเทศในปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่แนวทางการแบ่งแยกราคาก๊าซแอลพีจีออกเป็น 2 ตลาด โดยการให้การช่วยเหลือก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือนออกไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2552 ขณะที่อาจจะมีการทยอยปล่อยลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง แบบค่อยเป็นค่อยไป อาจสามารถช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ใช้ก๊าซในภาคครัวเรือน และสามารถลดภาระการแบกรับส่วนต่างราคาก๊าซแอลพีจีจากการนำเข้าเพื่อใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมที่นับวันจะมีปริมาณการใช้มากขึ้นได้บ้าง

กรณีดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อว่า อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ในภายหลัง หากภาครัฐไม่มีแนวทางการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างรัดกุม โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบนำก๊าซจากภาคครัวเรือนที่มีราคาถูกมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง รวมทั้งการลักลอบส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน จนก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซในประเทศได้

ทั้งนี้ ภาครัฐอาจจะต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพื่อมาใช้ในภาคครัวเรือน และต้องรับภาระส่วนต่างราคาเช่นเดิม ขณะที่การลักลอบใช้ก๊าซที่ผิดประเภทจะก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

สำหรับอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การใช้ราคาก๊าซแอลพีจีราคาเดียว และปรับขึ้นราคาทั้งระบบ โดยทยอยปรับขึ้นเป็นลำดับ สุดท้ายราคาน่าจะขยับขึ้นไปถึงจุดที่ผู้ใช้และผู้จำหน่ายยอมรับราคาร่วมกันได้จริง แนวทางนี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบใช้ก๊าซเช่นกรณีการแบ่งแยกราคา แต่ประชาชนโดยเฉพาะภาคครัวเรือนต้องรับภาระราคาก๊าซที่จะสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งภาครัฐจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกส่วนอย่างชัดเจน ขณะที่ภาครัฐจะยังต้องตรวจสอบการลักลอบขนส่งก๊าซไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะยังคงเกิดขึ้น หากราคาจำหน่ายในประเทศยังคงต่ำกว่าในประเทศเพื่อนบ้านมากพอสมควร

ศูนย์วิจัยฯ ยังระบุว่า หากพิจารณาถึงผลดีและผลเสียในระยะยาว การลดการเข้าไปแทรกแซงและทยอยปล่อยให้ราคาก๊าซแอลพีจีสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้ประชาชนในทุกส่วนเกิดการใช้ก๊าซอย่างประหยัด และใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น รวมทั้งจะเป็นการลดการใช้ตามความเคยชินที่แต่เดิมภาครัฐเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนราคาทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีบิดเบือนไปจากราคาที่เป็นจริงอย่างมาก ส่งผลให้เป็นภาระหนักแก่ภาครัฐเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

**ปชช.แห่กักตุน ระเบิดลูกใหม่กำลังปะทุ

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบันมีประชาชนบางรายได้สำรองถังก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) เฉลี่ย 2-3 ถังต่อครัวเรือน เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนเหมือนช่วงที่ผ่านมา จึงอยากเตือนครัวเรือนอย่าตื่นตระหนก เพราะจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ง่าย และไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) กล่าวว่า กำลังติดตามตัวเลขการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนในเดือน ก.ค.เพื่อประเมินถึงความต้องการที่เพิ่มว่ามีความผิดปกติมากน้อยเพียงใด เพราะอาจนำแอลพีจีครัวเรือนไปใช้ผิดประเภท แต่ที่กังวลคือในภาคขนส่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มถึง 20% ถือเป็นอัตราที่สูงมากดังนั้นจำเป็นที่รัฐจะต้องปรับขึ้นราคาส่วนนี้ เพื่อลดการใช้แอลพีจีผิดประเภท

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่านโยบายรัฐผลิตแอลพีจี เพื่อเน้นภาคครัวเรือนเป็นหลัก แต่ต่อมาภาคขนส่งมาแย่งสัดส่วนการใช้จากภาคครัวเรือนจนเกิดปัญหาขาดแคลน
กำลังโหลดความคิดเห็น