ปตท. ยืนยันนำเข้าก๊าซแอลพีจีแล้ว ครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และต้องนำเข้าอีก 22,000 ตัน สิ้นเดือน ก.ค.นี้ เพื่อสำรองใช้ในประเทศ ป้องกันขาดแคลน
วันนี้ (22 ก.ค.) นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า จากตัวเลขแนวโน้มการใช้ก๊าซแอลพีจีในประเทศ ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จากเดิมในปีที่ผ่านมา ประมาณ 3 ล้านตัน เพิ่มเป็น 3.5 ล้านตันในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 14.2% ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการใช้ในรถยนต์ ถึง 22.7% ปตท. จึงได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานให้ดำเนินการนำเข้าก๊าซแอลพีจีอีกทางหนึ่งเพื่อสำรองใช้ประเทศ
โดยที่ผ่านมา ปตท.ได้นำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศแล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 5 เที่ยว คือเที่ยวแรก (29 เม.ย.2551) ปริมาณ 22,000 ตัน เที่ยวที่ 2 (2 ก.ค. 51) ปริมาณ 23,000 ตัน เที่ยวที่ 3 และเที่ยวที่ 4 (14 ก.ค. 51) ปริมาณ 40,000 ตัน และ 23,000 ตัน เที่ยวที่ 5 (16 ก.ค. 51) ปริมาณ 1,800 ตัน โดย ปตท. จะนำเข้าก๊าซแอลพีจีอีกครั้ง ในวันที่ 27 ก.ค. ศกนี้ ในปริมาณ 22,000 ตัน ซึ่งคาดว่า ปตท. ยังคงต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือน ส.ค.51 เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปีนี้ ประมาณเดือนละ 88,000 ตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกรมธุรกิจพลังงานจะเป็นผู้กำหนดตัวเลขการนำเข้าฯ
ทั้งนี้ การนำเข้าก๊าซแอลพีจีแต่ละครั้ง ปตท. ต้องนำเข้าในราคาตลาดโลก คือ ประมาณกว่า 950 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่รัฐกำหนดให้ราคาขายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 332 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งรัฐจะสนับสนุนส่วนต่างประมาณกว่า 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยให้ปตท. เป็นผู้รับภาระไปก่อนในช่วงแรก และชำระคืนให้ ปตท. ในภายหลัง
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปริมาณก๊าซแอลพีจียังมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยตัวเลขความต้องการใช้แอลพีจีของทั้งประเทศที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเดือน มิ.ย.2551 มีปริมาณ 285,000 ตัน แบ่งเป็นเป็นการจ่ายก๊าซฯ โดยโรงกลั่น 71,000 ตัน และจ่ายจากโรงแยกก๊าซ ปตท. ประมาณ 214,000 ตัน ซึ่ง ปตท. เป็นผู้รับผิดชอบจัดส่งให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และรถยนต์ปริมาณรวม 105,000 ตัน และได้ส่งให้กับผู้ค้ามาตรา 7 ในปริมาณ 109,000 ตัน ครบถ้วนตามที่กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนด
โดยหากปริมาณการใช้เติบโตขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ต่อไปคาดว่าในปีหน้าไทยอาจต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีในปริมาณถึงกว่า 1,000,000 ตัน สำหรับกรณีที่มีนักวิชาการอ้างว่าไม่พบข้อมูลการนำเข้าแอลพีจีในเว็บไซต์ของกรมศุลกากรมีเพียงการส่งออก นอกจากนี้ขอยืนยันว่า ปตท. มีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจริง โดยนำเข้ามาในรูปของก๊าซโพรเพน (C3) และก๊าซบิวเทน (C4) ทั้งนี้ คำว่า “แอลพีจี” เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกก๊าซโพรเพนหรือก๊าซบิวเทนหรือส่วนผสมระหว่างก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน
สำหรับส่วนผสมจะเป็นสัดส่วนเท่าใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งานในประเทศนั้นๆ สำหรับการขนส่งก๊าซแอลพีจีมี 2 รูปแบบ คือ ขนส่งโดยเรือ Pressurized Tank ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งก๊าซแอลพีจีในปริมาณไม่มาก (ต่ำกว่า 2,500 ตัน) หากขนส่งก๊าซแอลพีจีในปริมาณเกินกว่า 2,500 ตัน ในทางปฏิบัติต้องขนส่งโดยใช้เรือRefrigerated ในลักษณะแยกถังบรรจุก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน ซึ่งตามมาตรฐานความปลอดภัยไม่อนุญาตให้บรรจุก๊าซทั้งสองชนิดในถังเดียวกัน เนื่องจากต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในระดับที่ต่ำและก๊าซทั้งสองมีจุดเดือดที่ต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งและสูบถ่าย
นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งอีกด้วยในส่วนการอ้างถึงตัวเลขการส่งออกก๊าซแอลพีจีไปต่างประเทศช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ปริมาณ 20,000 ตัน นั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวเลขการส่งออกรวมของประเทศ โดย ปตท. ได้ส่งออกนับตั้งแต่เดือนม.ค. –พ.ค.51 รวมปริมาณเพียง 14,945 ตัน ให้กับประเทศมาเลเซีย กัมพูชา ลาว และพม่า (ในเดือน มี.ค.51 ปตท.ได้งดการส่งออกเพราะเกรงปริมาณก๊าซแอลพีจีไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ) ซึ่งการส่งออกดังกล่าว ทุกครั้ง ได้รับอนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงานเพื่อความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านและเป็นการส่งออกในราคาตลาดโลกบวกค่าดำเนินการ
อนึ่งในการนำเข้าก๊าซแอลพีจี นั้น ทางภาครัฐได้อนุญาตผู้ค้ามาตรา 7 ทุกรายมีสิทธิ์นำเข้าได้เช่นเดียวกับ ปตท. ซึ่งหากผู้ค้ามาตรา 7 ช่วยกันนำเข้าก๊าซแอลพีจีด้วย ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนก๊าซแอลพีจีจากปริมาณการใช้ในประเทศที่สูงขึ้นนี้ได้อีกทางหนึ่ง