ส.ว.รสนา แนะรัฐบาลไตร่ตรองให้ดี ก่อนลอยตัวก๊าซแอลพีจี เพราะสามารถผลิตได้เองในประเทศ ไ ม่จำเป็นต้องปล่อยราคาตามตลาดโลก เพื่อซ้ำเติมประชาชน "นายกสมาคมก๊าซฯ" ชี้รัฐบาลลูกกรอกสุมหัว ปตท. ฉวยโอกาสปล้นคนไทย ฟันกำไรแสนล้านบนคราบน้ำตา ยุควิกฤตน้ำมันแพง โดยซ้ำเติมเพิ่มราคาขายก๊าซแอลพีจี
วันนี้ ( 2 ก.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง วิกฤติน้ำมันโลกอุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะอยู่รอดอย่างไรว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ของรัฐบาลให้ลอยตัวเท่ากับราคาในตลาดโลกนั้น ควรไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน เนื่องจากก๊าซแอลพีจีบางส่วนสามารถผลิตได้ในประเทศจึงไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องใช้ของภายในประเทศเท่ากับราคาตลาดโลก
ทั้งนี้จากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีความผันผวนจากการเก็งกำไร ทำให้ราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปัญหาให้กับประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจมากอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว หากจะปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีอีกจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น
น.ส.รสนา ระบุว่า ขณะนี้ไทยมีโรงกลั่นน้ำมันถึง 7 แห่ง เป็นของ ปตท. 5 แห่ง อีก 2 แห่ง เป็นของรายอื่น นำเข้าน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใช้ในประเทศ 7 แสนบาร์เรล ส่งออก 3 แสนบาร์เรลต่อวัน การอิงราคาตลาดสิงคโปร์จึงไม่เป็นธรรม โรงกลั่นควรลดค่าการกลั่นลงได้ 1 บาทต่อลิตร และไม่เห็นด้วยกับการปล่อยลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี เนื่องจากสามารถผลิตได้จากอ่าวไทย และค่าสัมปทานถูกมาก เพียง 75 ดอลลาร์ต่อปี
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ของวุฒิสภา ได้จัดสัมมนาวิกฤติราคาน้ำมันโลก อุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะอยู่ รอดอย่างไร ซึ่งมี ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสนอให้ปรับลดค่าการกลั่น ซึ่งปัจจุบันเห็นว่าสูงผิดปกติ และไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะน้ำมันดีเซลมีต้นทุนแท้จริงสูงกว่าเบนซินมาก
นอกจากนี้ วงเสนาทางวิชาการ ยังมองว่า การที่รัฐบาลหันมาสนับสนุนพลังงานทางเลือกเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรมีการรองรับและแผนที่เพียงพอมากกว่าในปัจจุบันที่เป็นอยู่เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
นายชัยฤทธิ์ กาญจนาเวส นายกสมาคมติดตั้งแก๊สไทย เชื่อว่า ปัญหาขาดแคลนก๊าซแอลพีจี เกิดจากการกักตุนของ ปตท. ซึ่งรับสัมปทานบ่อก๊าซชนิดนี้ และเป็นเจ้าของโรงกลั่นถึง 4 แห่ง ซึ่ง ปตท.เป็นผู้กำกับดูแล และจำหน่ายเชื้อเพลิงในประเทศถึงร้อยละ 90
นายกสมาคมติดตั้งก๊าซไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาการขาดแคลนก๊าซแอลพีจี เกิดขึ้นเฉพาะภาคขนส่ง ซึ่งมีปริมาณการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ ประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้มากถึงร้อยละ 80 ในการตรวจสอบกับโรงบรรจุแก๊สหลายแห่งพบว่า ไม่มีการขาดแคลนแต่อย่างใด และหากรัฐบาลให้โครงสร้างราคาแก๊ส LPG ต่างกันตามแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง แท็กซี่ หรือครัวเรือน จะทำให้เกิดการลักลอบถ่ายเทแก๊ส และเกิดการทุจริตได้
ส่วนปริมาณรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซแอลพีจี พบว่ายังสูงขึ้นเฉลี่ยวันละ 4,000 คัน แม้มีข่าวว่ารัฐบาลจะปล่อยลอยตัวเชื้อเพลิงชนิดนี้ แต่เชื่อว่า ราคานั้นจะไม่สูงกว่าน้ำมันเบนซินอย่างแน่นอน
โดยเช้าวันนี้ นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมก๊าซหุงต้ม ได้ออกมากล่าวทางสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนก๊าซแอลมีจีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เชื่อว่าเป็นฝีมือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ต้องการแยกให้มีการใช้งานเป็น 2 ตลาด ได้แก่ ภาคครัวเรือน และภาคการขนส่ง โดยเชื่อว่าเบื้องลึกแล้ว ปตท. ต้องการผูกขาด และเป็นผู้กำหนดราคาก๊าซภายในประเทศ เพื่อสร้างผลกำไรระดับแสนล้าน ทดแทนตลาดน้ำมัน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากตลาดโลกที่ผันผวน
นายชิษณุพงศ์ ระบุว่า ปตท.ได้ผลักดันนโยบายดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลออกกฎหมายแทรกแซงตลาดก๊าซในประเทศ พร้อมตั้งข้อสังเกตุในการเรียกชื่อก๊าซแอลพีจีว่าเป็นก๊าซหุงต้ม และก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซเชื้อเพลิงรถยนต์ เพื่อให้ง่ายต่อการประกาศใช้กฤหมายแทรกแซงตลาด และปูทางไปสู่การผูกขาดราคาแบบเบ็ดเสร็จ
นายชิษณุพงศ์ ยังตั้งข้อสังเกตุอีกว่า ขณะที่ที่ผลกระทบในการแยก 2 ตลาด ของรัฐบาล ทำให้ประชาชนทั้งประเทศ ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมในยุคข้าวยากหมากแพง แต่กลุ่ม ปตท.กลับยังโกยกำไรหลายแสนล้านบนคราบน้ำตาคนไทย
"คนไทยใช้ก๊าซแอลพีจีมานาน 10-20 ปีแล้ว และมีความคุ้นเคย ตลาดก็ได้ขยายไปมาก มีรถยนต์หลายแสนคันติดตั้งใช้ก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมัน มีสถานีบริการทั่วประเทศ ขณะที่ก๊าซเอ็นจีวียังไม่มีความมั่นใจในการใช้ว่าดีจริงหรือไม่ แต่รัฐบาลกลับบอกว่าดีเพียงฝ่ายเดียว และอยู่ๆ รัฐบาลกลับประกาศออกมาว่า ให้ยกเลิกการใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์ พร้อมใช้กลไกตลาดมัดมือชกผู้ที่ใช้รถบ้าน ต้องเติมก๊าซเอ็นจีวีที่มีราคาแพง และมีปั๊มเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ" นายชิษณุพงศ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า
ผมจึงอยากถามว่า รัฐบาลเอาอะไรมากำหนดตรงนี้ ขณะที่ประชาชนเดือดร้อนเพราะน้ำมันแพง ท่านประกาศออกมาปุ๊บ ราคาก๊าซดีดขึ้นทันที แม้จะรู้ว่าการซ้ำเติมภาระค่าครองชีพให้ประชาชนก็ตาม แต่ผู้ที่ได้รับกำไรไปเต็มๆ ในการประกาศนโยบายครั้งนี้ คือ กลุ่ม ปตท. และพรรคพวก
นายชิษณุพงศ์ กล่าวอีกว่า ปตท.มักอ้างเสมอว่า เหตุผลในการยกเลิกให้ใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์ เนื่องจากเป็นก๊าซหุงต้ม เป็นการใช้พลังงานผิดประเภท แต่อยากถามว่า ทั่วโลกก็มีการใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์ และมีการใช้แพร่หลายมาเกือบ 20 ปีแล้ว มีการพัฒนาจนใกล้เคียงระบบน้ำมัน ส่วนก๊าซเอ็นจีวี ไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าเป็นก๊าซที่เหมาะสมเป็นพลังงานเพื่อใช้ในรถยนต์
"ผมจึงอยากให้รัฐบาลกำหนดทิศทางลงไปให้ชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอีกหลายสิบล้านคน เกิดความสับสนในการใช้"
ส่วนข้ออ้างที่ว่า ก๊าซแอลพีจี เป็นเชื้อเพลิงที่ต้องน้ำเข้า และมีราคาสูงขึ้น ทำให้มีต้นทุนสูง ปตท.ต้องแบกภาระอุ้มตลาดนั้น รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า มีการนำเข้าเท่าไร เสียดุลการค้าเท่าไร รวมถึงกรณีก๊าซเอ็นจีวี ต้องระบุว่า ผลิตในประเทศเท่าไร และนำเข้าเท่าไร โดยเฉพาะแหล่งในอ่าวไทย ส่วนแหล่งก๊าซในพม่าที่ท่านบอกว่านำเข้าเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ทราบว่าเท่าไร ถึงขนาดต้องลงทุนสร้างท่อส่งหลายพันล้าน นายชิษณุพงศ์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
**จับตาแผนใหม่ แยกราคา 3 ตลาด อุ้มแท็กซี่
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวหลังหารือกับแท็กซี่ผู้ประกอบการแท็กซี่ 40 องค์กรว่า เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแอลพีจี ให้มีเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง โดยปตท.ร่วมมือกับสยามแก๊ส และเวิลด์แก๊ส ที่จะจัดส่งก๊าซให้เพียงพอใน 100 ปั๊มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แบ่งเป็นปตท. 27 แห่ง เวิลด์แก๊ส 40 แห่ง และสยามแก๊ส 40 แห่ง
นายพรชัย กล่าวว่า กระทรวงจะให้ความช่วยเหลือแท็กซี่กว่า 50,000 คันที่ยังใช้แอลพีจีไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาที่จะปรับขึ้น ซึ่งจะหารือกับผู้ประกอบการแท็กซี่ เพื่อให้ความช่วยเหลือจนกว่าผู้ประกอบการแท็กซี่ 50,000 คันจะเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีทั้งหมดคาดว่าจะเปลี่ยนได้หมดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งตรงนี้แม้ว่ากระทรวง จะปรับขึ้นราคาแอลพีจีในเดือนก.ค. คาดว่าจะไม่กระทบต่อ
ราคามิเตอร์ ส่วนวิธีการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร คงต้องหารือกันก่อน ตอนนี้แท็กซี่ทั้งหมด 8 หมื่นคันยังไม่ติดตั้งเอ็นจีวี 5 หมื่นคัน ตรงนี้กระทรวงคงต้องเข้ามาดูแล และคาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไม่มีปัญหา คงยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เงินส่วนไหน หรือจะดำเนินการวิธีการใดบ้าง
รายงานข่าวกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า วิธีการช่วยเหลือแท็กซี่ จะใช้จัดสรรก๊าซจากปตท.ผ่านปั๊มสหกรณ์แท็กซี่ที่มีอยู่ เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ได้รับผลกระทบไปจนถึงสิ้นปีหรือจนกว่าแท็กซี่จะติดตั้งเอ็นจีวีทั้งหมดโดยราคาส่วนนี้จะเป็นการช่วยเหลือเหมือนกับกรณี น้ำมันม่วงที่ช่วยประมง เพราะเมื่อรถแท็กซี่หันไปติดตั้งเอ็นจีวีปตท.จะได้ลูกค้าส่วนนี้ไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร ประกอบกับต้องยอมรับว่าก.ค.นี้รัฐเคยให้สัญญากับแท็กซี่ว่าถ้าเอ็นจีวีไม่พร้อมจะไม่ขึ้นราคาจึงต้องรักษาสัญญาส่วนนี้ด้วย แต่ราคาบ้านและอุตสาหกรรมต้องปรับขึ้นแน่นอน ดังนั้นรถบ้านและภาคอุตสาห กรรมอาจต้องจ่ายเงินแพงขึ้น เพื่ออุดหนุนแท็กซี่
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการแยกราคาแอลพีจีเป็น 2 ตลาดว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจะนำไปสู่ปัญหามากมาย และเกิดการถ่ายเทนำแอลพีจีที่ใช้ในครัวเรือนมาใช้ในรถยนต์ โดยปัญหาแอลพีจีที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ไปเปลี่ยน แปลงมติที่ตนวางไว้ ที่กำหนดให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีตามรายไตรมาส หากดำเนินการตามที่ตนกำหนดไว้ราคาคงปรับขึ้น 3-4 บาท แม้จะไม่มาก แต่ทำให้ประชาชนรับรู้ว่าราคามันต้องปรับขึ้น คงไม่แห่ไปติดตั้งแอลพีจีกันมากมายขนาดนี้ คนที่ใช้รถน้อยๆ ก็ไปติดแอลพีจี
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรทำให้ประชา ชนยอมรับความเป็นจริงในเรื่องราคาพลังงาน เพราะหากยังอุดหนุนจะสร้างปัญหาไม่รู้จบ ขณะนี้เองผู้ใช้เบนซินต้องจ่ายเงินอุดหนุนราคาแอลพีจีนำเข้าถึง 16 บาท เพราะราคานำเข้าอยู่ที่ 950 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ในไทยขายได้เพียง 330 ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้เบนซิน ขณะนี้คงหมดยุคพลัง งานราคาถูกแล้ว