xs
xsm
sm
md
lg

รถบ้านรับมือราคา LPG ขึ้นราคา แท็กซี่ให้ ปตท.อุ้มถึงสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐลั่น 1-2 วันนี้ก๊าซขาดตลาดคลี่คลายเป็นปกติ พร้อมกำหนด 107 ปั๊มบริการแอลพีจี 24 ชั่วโมงในเขต กทม.และปริมณฑล เพื่อดูแลแท็กซี่ พร้อมส่งสัญญาณขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเฉพาะรถบ้านและอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่วนแท็กซี่เล็งดึงปตท.อุ้มด้วยการจัดสรรแอลพีจีผ่านปั๊มสหกรณ์โดยไม่มีการปรับราคาแลกกับให้เวลาติดตั้งเอ็นจีวีถึงสิ้นปี ขณะที่โตโยต้า อัดรัฐขาดนโยบายพลังงานที่ชัดเจน ทำประชาชนสับสน ฉุดยอดขายรถปิกอัพร่วง

พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนก๊าซหุงต้มของกลุ่มแท็กซี่ ว่า จากการติดตามของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งพลังงานจังหวัด และกรมการค้าภายใน พบว่าปริมาณก๊าซแอลพีจี(ก๊าซหุงต้ม) ไม่ได้ขาดแคลน เพราะปตท.ได้มีการเพิ่มกำลังส่งก๊าซจากเขาบ่อยาไปยังผู้ค้ามาตรา 7 เพิ่มขึ้นอีก 600 ตันต่อวัน จากเดิม 1,800 ตันต่อวัน ขณะที่ก๊าซนำเข้าจากต่างประเทศราว 2 หมื่นตัน ก็จะมาถึงไทย ดังนั้นวันนี้ (2ก.ค.) ปัญหาน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้

สำหรับข้อเรียกร้องแท็กซี่เกี่ยวกับการขอให้ตรึงราคาแอลพีจีต่อไปอีกนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมที่มีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน มีหน่วยงานทั้งกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กรมการค้าภายใน กรมขนส่งทางบกฯลฯ ร่วมหารือถึงแนวทางทั้งหมดรวมไปถึงการแยกราคาออกเป็น 2 ส่วน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะได้นำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่จะมีหารือให้เร็วที่สุด

ยันขึ้นราคาแอลพีจีรถบ้าน-อุตฯ

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวหลังหารือกับแท็กซี่ว่า เบื้องต้นได้เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนด้วยการจัดปั๊มแอลพีจี 4 มุมเมือง เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งมีปั๊มเข้าร่วม 3 รายได้แก่ ปตท. 27 แห่ง เวิล์ดแก๊ส 40 แห่ง และสยามแก๊ส 40 แห่ง ส่วนราคาก๊าซที่จะแยกเป็น 2 ส่วน ระหว่างภาคขนส่ง-อุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนนั้น ยืนยันว่าจะดำเนินการตามแผนเดิม แต่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับแท็กซี่ ที่จะเป็นภาระรัฐจึงได้ข้อสรุปที่จะมีการดูแลจนกว่าความพร้อมของระบบก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี จะรองรับได้ทั้งหมด

"แท็กซี่มีประมาณ 8 หมื่นคัน ยังไม่ติดตั้งเอ็นจีวี 5 หมื่นคัน เพราะก็ยอมรับว่าแท็กซี่ต้องการใช้เอ็นจีวีทั้งหมด แต่ยังติดปัญหาว่าปั๊มไม่พอต้องต่อคิวนาน ดังนั้นหากจะมีการขึ้นราคาแอลพีจีขนส่งและอุตสาหกรรม ก็คงจะต้องมีการดูแลแท็กซี่ แต่รายละเอียดเราจะพิจารณาอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใดๆ มาอุดหนุนแน่นอน และคงจะให้เวลาถึงสิ้นปีจนกว่าจะติดตั้งเอ็นจีวีหมด"นายพรชัยกล่าว

ดึง ปตท.อุดหนุนแอลพีจีแท็กซี่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คาดว่าจะมีการจัดสรรก๊าซหุงต้มโดยปตท.ผ่านปั๊มสหกรณ์แท็กซี่ที่มีอยู่ เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ได้รับผลกระทบไปจนถึงสิ้นปี หรือจนกว่าแท็กซี่จะติดตั้งเอ็นจีวีทั้งหมด โดยราคาส่วนนี้จะเป็นการช่วยเหลือเหมือนกับกรณีน้ำมันม่วงที่ช่วยประมง เพราะเมื่อรถแท็กซี่หันไปติดตั้งเอ็นจีวี ปตท.ก็จะได้ลูกค้าส่วนนี้ไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร ประกอบกับต้องยอมรับว่า ก.ค.นี้รัฐได้เคยให้สัญญากับแท็กซี่ว่าถ้าเอ็นจีวีไม่พร้อมจะไม่ขึ้นราคา จึงต้องรักษาสัญญาส่วนนี้ด้วย แต่ราคาบ้านและอุตสาหกรรมต้องปรับขึ้นแน่

นายวิฑูรย์ แนวพาณิชย์ ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด กล่าวว่า แท็กซี่พอใจระดับหนึ่งแต่คงไม่ทั้งหมด เพราะมีเงื่อนไขว่าจะต้องเปลี่ยนไปใช้เอ็นจีวีที่ขณะนี้ยังไม่พร้อม และก็ไม่แน่ใจว่าท้ายสุดจะพร้อมจริงหรือไม่ก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาเหมือนกรณีแอลพีจีอีกเมื่อมีคนใช้มากขึ้น ยอมรับขนส่งต้นเหตุก๊าซขาด

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ธพ.จะเป็นผู้จัดสรรก๊าซหุงต้มปตท.เองไม่มีสิทธิที่จะจัดสรรให้กับตนเองและยืนยันว่าได้มีการจัดสรรโดยเฉพาะกรณีการนำเข้ามาด้วยการอิงกับส่วนแบ่งทางการตลาดเพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย และก็ไม่ได้ปิดกั้นให้รายอื่นนำเข้ามาแต่บังเอิญ ปตท.ต้องแบกรับภาระนำเข้าจึงมีเพียงปตท.รายเดียวเนื่องจากราคานำเข้าสูงถึง 950 เหรียญต่อตันแต่ราคาขายในประเทศกำหนดเพียง 330 เหรียญต่อตัน

"กรณีการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มขนส่งและอุตสาหกรรมตามแผนแล้วจะต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด เพื่อนำเงินทยอยคืนปตท.ที่จ่ายไปก่อนจึงไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ค้ามาตรา 7 จะกักตุนเพื่อเก็งกำไร แต่ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะระบบขนส่งจากคลังเขาบ่อยาที่ผิดไปจากแผนแต่ขณะนี้ทุกอย่างเคลียร์แล้ว" นายเมตตากล่าว

นายชัชวาล กาจุลศรี กลุ่มแท็กซี่สายเหนือ (หมอชิต) กล่าวว่าแท็กซี่ต้องการใช้ก๊าซ เอ็นจีวี เพราะมีราคาถูกกว่าแอลพีจี แต่มีปัญหาปั๊มไม่พอ ต้องรอคิวเติมเวลานาน ประกอบกับการติดตั้งปตท.ออกให้เพียง 4 หมื่นบาท ที่เหลือ 3-4 หมื่นบาทแท็กซี่ต้องออกเงินเอง ไม่คุ้ม จึงทำให้แท็กซี่กว่า 80,000 คันขณะนี้ใช้เอ็นจีวี เพียง 20% หรือไม่เกิน 20,000 คันเท่านั้น

ปตท.ยันจ่ายก๊าซฯ ให้ตาม ธพ.กำหนด

นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงที่จ่ายก๊าซไม่เพียง พอเพราะได้จ่ายให้แก่ลูกค้าของปตท. และผู้ค้าตามมาตรา 7 ตามที่กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนดในปริมาณปกติมาโดยตลอด โดยความต้องการแอลพีจี ของประเทศ มิ.ย. (ไม่รวมปิโตรเคมี)ประมาณ 2.85 แสนตัน ปตท.ได้จัดส่งให้ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และรถนต์ 1.05 แสนตัน และส่งให้ผู้ค้ามาตรา 7 อีก 1.09 แสนตัน โดยผู้ค้ามาตรา 7 (สยามแก๊ส เวิล์ดแก๊ส ปิคนิค แสงทองและเชฟรอน) ต้องนำส่งเครือข่ายของตนเอง รวมทั้งปั๊มในสังกัด

โตโยต้าอัดรัฐนโยบายพลังงานมั่ว

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซล ขณะนี้มีสัดส่วนการจำหน่ายลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลถีบตัวสูงขึ้น และยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่อย่างใด ขณะที่ภาครัฐเองก็ยังไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่แน่นอน

"ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว และมีความผันผวนทุกวัน ประกอบกับภาครัฐขาดนโยบายที่ชัดเจนเรื่องพลังงานทดแทน มีทั้งแก๊สโซฮอล์ อี20, อี85, ไบโอดีเซล และเอ็นจีวี  ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน และขาดความเข้าใจ จึงไม่กล้าตัดสินใจซื้อ"

นายวุฒิกร กล่าวว่า รัฐต้องกำหนดทิศทางนโยบายพลังงานน้ำมันให้ชัดเจน และราคาให้มีความคงที่ โดยต้องมีทั้ง ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังมีแต่ความไม่แน่นอน ซึ่งโตโยต้าเพิ่งจะตอบสนองนโยบายด้วยการทำรถที่รอบรับเชื้อเพลิงอี 20 ออกจำหน่ายเมื่อต้นปี  และเตรียมจะแนะนำรถที่สามารถใช้เชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีในเร็วๆ นี้ แต่ล่าสุดกลับมีเรื่องเชื้อเพลิงอี85 ออกมาอีก จนสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการ และประชาชน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหายอดจำหน่ายรถปิกอัพตกต่ำ ขณะนี้คงยังไม่สามารถสรุปได้ ต้องรอความชัดเจนจากนโยบายของภาครัฐเสียก่อนจึงจะดำเนินการต่อไป ส่วนแผนการตลาดอื่นๆที่เคยวางไว้  โตโยต้าได้ดำเนินการครบทุกเรื่องแล้ว

"ขณะนี้มีปัจจัยเรื่องน้ำมันดีเซลราคาสูงเพียงอย่างเดียว ที่ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายของรถปิกอัพ ส่วนเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจไม่มีผล หากภาครัฐกำหนดนโยบายพลังงานทดแทนให้ชัดเจน ความมั่นใจของผู้บริโภคจะกลับมา รวมถึงผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนให้สอดรับกับทิศทางของนโยบายดังกล่าวได้อีกด้วย" นายวุฒิกร กล่าว

ส่วนตลาดรวมปิกอัพในปีนี้  คาดว่าจะมีสัดส่วนลดลง เมื่อเทียบกับรถเก๋ง ซึ่งจากเดิมสัดส่วนปิกอัพจะอยู่ที่ประมาณกว่า 60% น่าจะเหลือ 55% โดยสังเกตุจากยอดขายช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายของรถเก๋งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รถปิกอัพกลับหดตัว

อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถปิกอัพวีโก้ เครื่องยนต์เบนซิน 2.7 วีวีทีไอ กลับมียอดจำหน่ายสูงขึ้นจนถึงขนาดรถไม่พอส่งมอบ จากเดิมเคยขายเดือนละ 150 คัน เพิ่มขึ้นเป็น 300 คัน และปัจจุบันมียอดสูงถึงเดือนละ 500 คัน แต่ไม่สามารถส่งมอบรถได้ เนื่องจากเครื่องยนต์เบนซินขาดแคลน

นายวุฒิกรกล่าต่อว่า กรณีที่ดีลเลอร์บางรายนำรถยนต์ไปติดแก๊สธรรมชาติออกจำหน่าย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีลเลอร์สามารถทำได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า เนื่องจากบริษัทยังไม่มีสินค้าออกมาจำหน่ายแต่ผู้บริโภคมีความต้องการ

ขณะที่แผนช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นลีโม่ สำหรับแท็กซี่ ซึ่งติดตั้งระบบเครื่องยนต์ใช้เชื้อเพลิงแก๊สธรรมชาติออกจากโรงงาน ในเดือนส.ค.นี้ และเตรียมนำเข้ารถยนต์รุ่นอัลพาร์ด เครื่องยนต์ 3.5 ลิตร เข้ามาจำหน่าย ภายใต้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลง JTEPA คาดว่าจะมีผลให้ราคาขายต่ำกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งถูกว่ารถนำเข้ามาโดยผู้นำเข้าอิสระหลายแสนบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น