เผยตัวเลขอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ 2 ใน 3 เกิดขึ้นใน กทม.-ปริมณฑล เสียหาย 8-9 พันล้านบาทต่อไป เหตุสำคัญยังอยู่ที่คุณภาพพนักงานขับรถ มาตรฐานรถประกอบ กรมขนส่งแจงเร่งทำกฎข้อบังคับอายุรถต้องไม่เกิน 15 ปี ด้านตัวแทนผู้บริโภคโอด หน่วยงานรัฐช้าทำได้แค่กำลัง แต่ขาดการขีดเส้นตายกำหนดวันใช้แน่นอนไม่ได้ พร้อมเสนอรัฐส่งเสริมสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารเป็นกฎหมาย
วันนี้ (10 มิ.ย.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค จัดระดมความคิดเรื่อง “การเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ” ทั้งนี้เพื่อนำเป็นข้อเสนอร่างนโยบายสาธารณะต่อคณะรัฐมนตรี
โดยนพ.ธนพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (มสช.) เปิดเผยสถานการณ์ที่เป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะที่นอกจากจะเป็นเรื่องขอขึ้นค่าโดยสารแล้ว มาตรฐานความปลอดภัยก็ยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากการสรุปตัวเลขแนวโน้มอุบัติเหตุอันเกิดจากรถโดยสารสาธารณะพบว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นปีละ 3,500-4,000 ครั้ง 1 ใน 3 เกิดในภูมิภาคที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลัก เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต เป็นต้น และ 2 ใน 3 เกิดขึ้นใน กทม.และปริมณฑล โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้วกว่า 51 ครั้ง เสียชีวิต 60 ราย และบาดเจ็บอีกร้อยกว่าคน
นอกจากนี้ อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง จะพบว่ามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 0.42 ราย หรือครึ่งคน บาดเจ็บสาหัสประมาณ 1 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 คน ประเมินมูลค่าความเสียหาย 8,000-9,000 ล้านบาทต่อปี โดยจากการสำรวจพบว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของคนร้อยละ 75 ความบกพร่องของยานพาหนะ ร้อยละ 14 และสภาพถนนที่ไม่ปลอดภัยอีกร้อยละ 11
“ผลการสำรวจและสอบสวนพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารไม่ได้รับความปลอดภัยคือ คนขับ ซึ่งมีความอ่อนล้าจากการทำงานเป็นกะ ไม่มีเวลาพัก คนไม่พร้อมทำงาน และไม่มีแรงจูงใจที่ดีเช่นเงินเดือนต่ำ อีกส่วนหนึ่งคือโครงสร้างรถที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วยกระจกเป็นส่วนใหญ่ อุปกรณ์ความปลอดภัย อาทิ เข็มนิรภัย และส่วนสุดท้ายคือ ระบบกลไกกำกับรถรวมถึงระบบการชดเชยเยียวยา แก่ผู้ประสบอุบัติเหตุ” ผู้จัดการ มสช.กล่าว
นายสุมิตร จงอัจฉริยกุล หัวหน้าฝ่ายรถโดยสาร กลุ่มงานตรวจสอบสมรรถนะรถ สำนักวิศวกรรม และความปลอดภัย กรมขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมขนส่งทางบกมีความพยายามที่จะแก้กฎกระทรวงให้มีความทันสมัยอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีการร้องเรียนและต่อรองจากผู้ประกอบการเสมอ จึงทำให้ยังไม่มีข้อกฎหมายที่แน่นอนตายตัว ซึ่งขณะนี้ได้ทำการศึกษาเรื่องความปลอดภัยกับเข้มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะอยู่ ซึ่งคาดว่าไม่นานจะได้นำมาบังคับใช้ อีกทั้งยังกำลังดำเนินการเรื่องข้อบังคับกำหนดอายุการใช้งานรถไม่ให้เกิน 15 ปี
“เราพยายามที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกคนสร้างมาตรฐานของตัวรถ ซึ่งใจจริงแม้จะอยากให้ใช้รถใหม่ทั้งหมด แต่ด้วยข้อจำกัดของต้นทุน จึงอนุโลมให้ใช้รถ 3 เพลาได้ อีกประการหนึ่งคือผู้ประกอบการมีการปรับแก้ตัวโครงสร้างรถเกือบตลอดเวลา อย่างความสูงกำหนดไว้ 3.5 เมตร แต่ก็ขอเพิ่มเป็น 3.8 เมตร และตอนนี้ก็มาขอติด CMG กันมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนน้ำมัน ทำให้ตัวถังรถหนัก การต่อหลังคาทำให้รถเสียการทรงตัว และเป็นอุปสรรคต่อการบรรทุกน้ำหนักผู้โดยสาร” นายสุมิตร กล่าวชี้แจง
ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยังเป็นความโชคร้ายของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอยู่มาก เนื่องจากกระบวนการต่างๆ ของหน่วยงานราชการยังอยู่เพียงขั้นตอนการศึกษา โดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัดว่าจะนำมาใช้ได้จริงเมื่อใด ขณะที่รถเจ้าปัญหายังหมุนล้ออยู่ทุกวัน และจากการสำรวจจากผู้ใช้บริการพบว่า เหตุผลในการตัดสินใจใช้บริการคือ พิจารณาจากความใหม่ของรถ สีสันของรถ ลักษณะเบาะ และความสะดวกในเวลาของรถ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีการตระหนักถึงความปลอดภัย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ คือ ความตระหนักร่วมกันในสิทธิผู้ใช้บริการของผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาชน
“ระบบสัมปทานทำให้มีข้อจำกัดในการแข่งขัน และผู้ประกอบการก็เพิกเฉยในการให้ความสำคัญของผู้ใช้บริการ ถ้ามีการอุดหนุนผู้ประกอบการหรือสนับสนุนให้มีการปรับปรุงมาตรฐานรถ คนขับและช่วยเหลือผู้รับบริการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยก็จะดีมาก และรัฐต้องส่งเสริมสิทธิของผู้ใช้บริการ และการเข้าถึงเพื่อออกเป็นกฎหมายข้อบังคับ เช่น ผู้ใช้บริการต้องมีอิสระในการเลือกรถโดยสารได้ด้วยสมัครใจไม่ใช่มีใครมาลากขึ้นรถ ต้องได้รับความปลอดภัยทุกด้านทั้งร่างกาย จิตใจ อนามัย เสรีภาพ และทรัพย์สินหรือมีสิทธิเรียกร้องหรือร้องเรียนหน่วยงานหรือผู้ให้บริการเพื่อแก้ไข เยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย โดยไม่ประวิงเวลา และมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์ตนเองและผู้อื่น” นายอิฐบูรณ์ กล่าว