รมว.พลังงาน ส่งสัญญาณให้ผู้ใช้รถติด LPG เตรียมทำใจ เผยสัปดาห์หน้าเคาะราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง-อุตสาหกรรม แน่นอน ย้ำใช้มาตรการตรวจปั๊ม 24.00 น. พรุ่งนี้ ตามใบสั่ง "หมัก" พร้อมยืนยันว่าจะดูแลให้การปรับขึ้นราคาเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้านนายกฯ ผู้ค้าก๊าซฯ ชี้ราคาที่เหมาะสมควรอยูที่ กก.ละ 6 บาท ชี้ราคาที่รัฐตั้ง กก.ละ 10 บาท สูงเกินจริง
วันนี้ (23 ก.ค.) พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวยืนยันว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะเห็นความชัดเจนในการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าจะดูแลให้การปรับขึ้นราคาเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การดูแลไม่ให้ลักลอบนำก๊าซจากภาคครัวเรือนไปใช้ยังภาคอื่นจะพยายามบังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่ให้เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากคณะทำงานฯ สรุปแนวทางออกมาแล้ว ก็จะให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาในทันที เพื่อป้องกันการกักตุนก๊าซ LPG
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เที่ยงคืนพรุ่งนี้จะมีการตรวจสต๊อกน้ำมันทั่วประเทศ หลังจากมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำมันคงเหลือ และจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการหลังการปรับลดราคาตามภาษีสรรพสามิตที่ปรับลดลง
ก่อนหน้านี้ นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ยอมรับว่าปัญหาภาวะขาดแคลนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ผ่านมาส่งผลให้ประชาชนบางรายมีความวิตกกังวลจึงสำรองถังแอลพีจีภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2-3 ถังต่อครัวเรือน จึงต้องการวิงวอนขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะปัจจุบันปัญหาการขนส่งแอลพีจีได้เข้าสู่ภาวะปกติเกือบ 100% แล้วจึงมั่นใจได้ว่า แอลพีจีจะไม่ขาดแคลนแน่นอน โดยปริมาณล่าสุด ปตท.ได้แจ้งที่จะมีการนำเข้าเพิ่มอีก 3 หมื่นตัน จากเดิมที่นำเข้ามาแล้ว 6 หมื่นตัน
นอกจากนี้ การกักตุนแอลพีจีในครัวเรือนเพิ่ม บางบ้านซื้อถังเอาไปเก็บ 2-3 ถัง ซึ่งทางร้านมีถังสำรองไว้รองรับแล้วเห็นว่าเป็นอันตราย จึงต้องการให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นที่คลี่คลายสู่ปกติแล้ว และที่สำคัญนโยบายรัฐได้ออกมาชัดเจนแล้วว่าจะตรึงราคาภาคครัวเรือนไปอีก 6 เดือน
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามตัวเลขการใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือน คงจะต้องติดตามตัวเลขสรุปเดือน ก.ค.นี้ เพื่อประเมินถึงความต้องการในครัวเรือนที่เพิ่มผิดปกติมากน้อยเพียงใด เพราะอาจจะมีการนำแอลพีจีครัวเรือนไปใช้ผิดประเภทได้ แต่สิ่งที่กังวลคือในภาคขนส่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มถึง 20% ถือเป็นอัตราที่สูงมาก ดังนั้นจำเป็นที่รัฐจะต้องปรับขึ้นราคาภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้แอลพีจีผิดประเภท เนื่องจากต้องยอมรับว่านโยบายของรัฐผลิตแอลพีจีเพื่อเน้นภาคครัวเรือนเป็นหลัก แต่ต่อมาภาคขนส่งมาแย่งสัดส่วนการใช้จากภาคครัวเรือนจนทำให้ขาดแคลนและต้องนำเข้ามาในที่สุด ซึ่งการนำเข้านั้นมีราคาสูงกว่าราคาในประเทศมากการขึ้นราคาภาคขนส่งและอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ส่วนกรณีที่มีข่าวระบุว่ากระทรวงพลังงานอาจจะมีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งและอุตสาหกรรมขั้นต่ำประมาณ 10 บาทกิโลกรัม (กก.) นั้น ยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่อาจจะสูงเกินไป เมื่อเทียบกับแอลพีจีครัวเรือนอาจจูงใจให้มีการนำไปใช้ผิดประเภทได้ แม้ว่าเบื้องต้นจะทราบว่ากฎหมายการทำผิดแอลพีจีนั้นค่อนข้างจะรุนแรงก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าราคาควรจะปรับขั้นต่ำก่อนประมาณ 5-6 บาท/กก.