xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.คาดปีหน้านำเข้าLPGพุ่ง หวั่นมีผลกระทบกระแสเงินสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ปตท.คาดปีหน้า ยอดนำเข้าแอลพีจีพุ่งถึง 1.1 ล้านตัน หวั่นกระทบกระแสเงินสดของปตท.หากต้องแบกรับภาระนำเข้าแอลพีจีที่สูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เตรียมหารือก.พลังงานเพื่อหาทางออก หลังคาดปีนี้แบกภาระดังกล่าวถึง 6 พันล้าน พร้อม เรียกร้องให้ผู้ค้ามาตรา 7 ช่วยแบกรับภาระนำเข้าแอลพีจี เพื่อพยุงปตท.ด้วย พร้อมโต้ไม่มีได้ตั้งบริษัทจ่ายเงินให้นักการเมืองที่เกาะเคย์แมน ยันระบบการจ่ายเงินของปตท.เข้มงวด ตรวจสอบได้
นายสุรงค์ บูลกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้มีการประเมินความต้องการใช้แอลพีจีในปีหน้าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 14% ทำให้ต้องมีการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศเข้ามาถึง 1.16 ล้านตัน ทำให้ยอดรับภาระนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯมีความกังวลกระทบกระแสเงินสดของปตท. หากต้องแบกรับภาระราคานำเข้าแอลพีจีไปจนถึงปีหน้าที่ราคาตลาดโลก 930 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่นำมาขายในราคาที่ 332 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือปตท.ต้องแบกภาระไปก่อนตันละ 600 เหรียญสหรัฐ จึงต้องมีการหารือกับกระทรวงพลังงานต่อไป
ทั้งนี้ ปตท.ได้มีการอุดหนุนทั้งราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับขึ้นช้ากว่าคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา การอุดหนุนราคาแอลพีจี และเอ็นจีวี ซึ่งแต่ละปีปตท.อุดหนุนเป็นเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท หากต้องมีแบกรับภาระราคานำเข้าแอลพีจีเพิ่มเติม ก็จะมีทำให้กระแสเงินสดของปตท.ตึงตัวได้

ส่วนนโยบายรัฐในการกำหนดแอลพีจีเป็น 2 ราคา โดยจะปรับขึ้นราคาแอลพีจีในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้สูงกว่าภาคครัวเรือนนั้น หากเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมาก ก็คงไม่มีผลให้ยอดการใช้แอลพีจีลดลง ดังนั้น การปรับขึ้นราคาแอลพีจีควรให้เป็นไปตามตลาดโลก เพื่อให้ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมหันไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน ทำให้ลดการนำเข้าแอลพีจีลงด้วย
“ ขณะนี้ยังไม่มีผู้ค้ามาตรา 7 สักรายที่นำเข้าแอลพีจี จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ค้าม.7 หันมารับภาระต้นทุนนำเข้าแอลพีจีด้วย จากเดิมที่ปตท.ต้องเป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว เพราะพอถึงจุดหนึ่งปตท.ก็คงแบกรับภาระทั้งประเทศไม่ได้ โดยปตท.พร้อมที่จะสนับสนุนผู้ค้าม. 7 ในการนำเข้าแอลพีจีทั้งการนำเข้าร่วมกัน หรือให้เรือขนก๊าซฯมาลอยที่ท่าเทียบเรือ รวมถึงการใช้คลังก๊าซฯร่วมกันกับปตท.ด้วย “
ปัจจุบันคลังก๊าซแอลพีจีที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี สามารถรองรับได้เพียง 5 หมื่นตัน แต่เดือนก.ค.นี้มีการนำเข้าถึง 1 แสนกว่าตัน ทำให้ต้องมีเรือมาลอยจอดเพื่อรอการขนส่งก๊าซฯเข้าคลัง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 4 หมื่นเหรียญสหรัฐ/วัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเพิ่มสำรองก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 0.5 %ของปริมาณการขาย หลังจากตัวเลขการนำเข้าแอลพีจีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากรัฐกำหนดปริมาณสำรองก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น ทางปตท.ก็คงต้องลงทุนในการสร้างถังเก็บแอลพีจีเพิ่มเติมอีก 2 ถังๆละ 1 หมื่นตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5-2 พันล้านบาท
“ วันนี้ระบบคลังที่เขาบ่อยาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อนำเข้าแอลพีจี แต่ออกแบบมาเพื่อส่งออกแอลพีจีเท่านั้น แต่ถ้ารัฐมีการออกกฎเพิ่มสำรองฯแอลพีจี ผู้ค้าม. 7 ทุกรายก็คงต้องลงทุนสร้างถังเก็บเพิ่ม”
วานนี้ (29 ก.ค.) เรือขนแอลพีจีได้นำก๊าซแอลพีจีในปริมาณ 22,000 ตัน จากประเทศมาเลเซีย มาถึงท่าเทียบเรือคลังก๊าซเขาบ่อยา ปตท. จ. ชลบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นเรือเที่ยวที่ 6 ที่ ปตท. ได้นำเข้ามาเพื่อเตรียมการให้พร้อม รองรับกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปตท.มีการนำเข้าแอลพีจีรวมทั้งสิ้นแล้ว 1.31 แสนตัน และในเดือนส.ค.นี้ ปตท.จะมีการนำเข้าแอลพีจีเข้ามาอีก 8.4 หมื่นตัน คาดทั้งปีนี้ปตท.ต้องนำเข้าแอลพีจีประมาณ 4.5 แสนตัน สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 3 แสนตัน

เป็นผลจากการที่ความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมในปีที่ผ่านมาประมาณ 3 ล้านตัน เป็น 3.5 ล้านตันในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 14.2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ในรถยนต์ ถึง 22.7 โดย ปตท. ต้องนำเข้าในราคาตลาดโลก คือ ประมาณกว่า 950 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่รัฐกำหนดให้ราคาขายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 332 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งรัฐฯ จะสนับสนุนส่วนต่างให้ ภายหลัง ทั้งนี้ ปตท. ได้รับภาระแทนไปก่อนในช่วงแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวปตท.กล่าวว่า บอร์ดปตท.ได้เห็นชอบนโยบายที่ปตท.จะแบกรับภาระการนำเข้าแอลพีจีในปีนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ล่าสุด ตัวเลขการรับภาระนำเข้าแอลพีจีของปตท.รวมแล้ว 3 พันล้านบาท หากนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 2551 คาดว่าปตท.จะต้องรับภาระประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่เห็นโอกาสที่ปตท.จะได้รับเงินชดเชยการนำเข้าแอลพีจีดังกล่าวคืน หากยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของปตท.ได้
นายสุรงค์ บูลกุล กล่าวถึงกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยระบุว่าปตท.มีการเปิดบัญชีจ่ายเงินนักการเงินเดือนละ 30 ล้านบาทที่เกาะเคย์แมนว่า ไม่เป็นความจริง เพราะระบบการจ่ายเงินของปตท.มีความรัดกุม โดยควบคุมถึง 3 ขั้นตอน คือ 1 ระบบควบคุมการค้า โดยมีคณะกรรมการพิจารณา มีการตรวจสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2. ระบบเอกสารที่จะต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมง และ3. การตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีชั้นนำของโลก คือ เอิร์น แอนด์ ยังจากสิงคโปร์ แล้วส่งบัญชีจากบริษัทต่างชาติมายังบริษัทแม่แล้วสตง.ตรวจสอบอีกที
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ขณะนี้เหลือเพียงบริษัทเดียวที่เปิดในเกาะเคย์แมน ซึ่งการตั้งบริษัทดังกล่าวเพื่อดูแลการค้าน้ำมันในฟิลิปปินส์ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายของฟิลิปปินส์ และขณะนี้มีแผนที่จะปิดบริษัทดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น