ผู้บริหารฯ ปตท. โต้ข้อกล่าวหา หย่อนประสิทธิภาพ-กำลังการผลิต เพื่อให้ตลาดขาดแคลน และต้องนำเข้า ระบุริมาณการใช้เพิ่มขึ้นถึง 14.2% เป็นสาเหตุหลักที่ ปตท.ต้องนำเข้าแทนผู้ค้ามาตรา 7 ส่งผลให้ขาดทุนไปแล้ว 6 พันล้าน
วันนี้ (24 ก.ค.) นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึงกรณีที่ผู้ค้ามาตรา 7 บางราย ให้ข่าวว่า ปตท. ควรเพิ่มศักยภาพ (Capacity)ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงกลั่นน้ำมันเพื่อขยายกำลังการผลิตก๊าซแอลพีจีให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ แทนการนำเข้าจากต่างประเทศนั้น
นายชัยวัฒน์ ยืนยันว่า ปตท. ได้ดูแลหน่วยผลิตทุกหน่วยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงประชาชนและประเทศ รวมทั้งได้ทำหน้าที่บริษัทพลังงานแห่งชาติของคนไทยอย่างดีที่สุด
โดยเฉพาะในยามที่ประเทศมีวิกฤติพลังงาน ซึ่งทำให้มีความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมในปีที่ผ่านมา ประมาณ 3 ล้านตัน เพิ่มเป็น 3.5 ล้านตันในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 14.2% ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการใช้ในรถยนต์ ถึง 22.7% กระทรวงพลังงานจึงได้มอบหมายให้ ปตท. ดำเนินการนำเข้าก๊าซแอลพีจีแทนผู้ค้ามาตรา 7 ทุกราย เพื่อสำรองใช้และป้องกันการขาดแคลนในประเทศ
ล่าสุดในเดือน ก.ค.นี้ ปตท.ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีมาถึง 109,800 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 37% และยังมีภาระต้องนำเข้าตลอดทุกเดือนจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะประมาณ 60,000 – 100,000 ตัน / เดือน ในขณะที่คลังเก็บสำรองผลิตภัณฑ์และท่าเทียบเรือของ ปตท. จ.ชลบุรี ที่มีศักยภาพดีที่สุด สามารถเก็บบรรจุก๊าซแอลพีจีได้ 32,000 ตัน ซึ่งเต็มขีดจำกัดของการรองรับในปริมาณดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศเราเป็นการค้าเสรี กระทรวงพลังงาน ได้เปิดกว้างให้ผู้ค้าตามมาตรา 7 ทุกรายมีสิทธิ์ที่จะนำเข้าก๊าซแอลพีจีและควรช่วยเหลือประเทศในยามที่เกิดภาวะวิกฤตพลังงาน เพื่อให้มีก๊าซแอลพีจีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ดังนั้นผู้ค้ามาตรา 7 ทุกบริษัทควรนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพื่อดูแลลูกค้าของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ ปตท. นำเข้าแทนแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ ปตท. ที่จะต้องมาแบกภาระให้กับลูกค้าของผู้ค้ามาตรา 7
นายชัยวัฒน์ ระบุว่า มีจำนวนสถานีบริการจำหน่ายก๊าซแอลพีจีมากที่สุด ไม่นับรวมถึงลูกค้ารายอื่นๆของผู้ค้ามาตรา 7 (ทั้งประเทศมีปั๊ม 444 แห่ง เป็นของ ปตท.เพียง 27 แห่ง เท่านั้น) การที่ให้ ปตท. รับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้นแทนประมาณกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
"นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงปัจจุบัน ปตท.นอกจากช่วยรับภาระแทนผู้บริโภคในส่วนที่ไม่ได้ปรับราคาน้ำมันขายปลีกขึ้นตามต้นทุนเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท และรับภาระขาดทุนจากการจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวีต่ำกว่าต้นทุนแทนประชาชนประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท แล้ว ปตท. ยังต้องรับภาระในส่วนของก๊าซแอลพีจีอีก รวมมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท อีกด้วย"
ทั้งนี้ หากประชาชนยังคงใช้ก๊าซแอลพีจีในปริมาณที่สูงมากเช่นนี้ปีหน้าคาดว่าไทยคงต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน จึงขอให้ทุกฝ่ายใช้เชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับพาหนะและการใช้งาน รวมทั้งคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย