xs
xsm
sm
md
lg

เลือกทางสว่าง 8 : อย่าฟุ่มเฟือยกับต้นทุนประเทศในการปกป้องความผิดของคนกลุ่มเดียว ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนตรี ศรไพศาล
ช่วงนี้ผมขอถอดหมวกนักธุรกิจ แต่สวมหมวกฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย อดีตนักกิจกรรม นายกสโมสรนิสิต จุฬาฯ ปี 2527 ด้วยความรักและห่วงใยในบ้านเมืองจริงๆ ครับ ขณะที่คนไทยทุกคน จับตามองสถานการณ์ของบุคคลระดับผู้นำและอดีตผู้นำของประเทศ ผมมีความดีใจกับภาพรวมที่คนไทยยังรู้รักสามัคคี ไม่มุ่งทำลายกัน และอีกด้านหนึ่ง กระบวนการยุติธรรมกำลังเดินหน้า คดีความต่างๆมีความชัดเจนมากขึ้น

ผมหวังอย่างยิ่งว่า **นักการเมืองจะไม่ตีรวนให้กระบวนการยุติธรรมต้องเฉไฉ หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้โดยทั่วไป นักลงทุนทั่วโลกเขาเข้าใจ ว่าการเมืองอาจมีผู้อาสาต่างขั้วต่างความคิด แต่ขอให้ระบบเดินหน้า** และระบบเดินหน้า จะหมายถึง กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งผู้นำมาจากการเลือกตั้ง และหลักนิติธรรมที่โปร่งใสเป็นธรรม กฎหมายมีความเที่ยงธรรมศักดิ์สิทธิ์ ประเทศไทยก้าวหน้าได้ ถ้านักการเมือง ยอมเล่นตามกติกา เคารพกระบวนการยุติธรรมผมเป็นห่วง หากนักการเมือง ยังคงคิดเห็นแก่ตัวเองฝ่ายเดียว คิดจะฟุ่มเฟือยกับต้นทุนประเทศไม่อั้น (เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเพียงเรื่องส่วนรวมของประเทศ !) เพียงเพื่อปกป้องความผิดของคนกลุ่มเดียว เช่น

1. ต้นทุนกระบวนการยุติธรรม : ผมจำได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งแต่ ปี 2540 ได้**ห้ามไม่ให้รัฐมนตรี (รวมทั้งนายกรัฐมนตรี) มีหุ้น โดยเฉพาะกิจการสัมปทานผูกขาดกับภาครัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจ เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์** ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่กิจการที่ตนถือครองเราหวังว่า องค์กรอิสระจะทำงานได้ เรามี ปปช. ปปง. ดีเอสไอ เพื่อที่จะรักษาความยุติธรรม

ในยามที่ผู้มีอำนาจยังครองเมือง คดีต่าง ๆ ก็เก็บเงียบ จนมาถึงยุคนี้ จึงได้เป็นตามข่าวว่าจะมีความคืบหน้าทางคดี โดยมีการส่งฟ้องอดีตผู้นำ ในเรื่องการซุกในนามแอมเพิลริช วินมาร์ค และลูกๆ ตลอดจนการเอื้อประโยชน์กิจการส่วนตัว ผมว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งสิ่งที่ผมปรารถนาที่สุด คือ **ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงความจริงต่างๆ เพราะเมื่อความจริงปรากฏว่าใสสะอาด จะได้ไม่ต้องมีข้อกังขาของประชาชนอีกต่อไป **ความศรัทธาก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมมันไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก หากมีความจริงโต้แย้งหลักฐานหลายเรื่อง ตามข่าวคราวที่มีมา เช่น

1.1)ดังที่ กลต. และ ดีเอสไอ ได้กล่าวโทษว่า วินมาร์คเป็นโนมินีของอดีตผู้นำ เนื่องจากจ่ายเงินเข้ามาซื้อหุ้นกิจการอสังหาริมทรัพย์จากท่าน และภรรยา ประมาณ 6 บริษัท **ทุกบริษัทที่ราคาพาร์ทั้งสิ้น ทั้งที่มีมูลค่าทางบัญชีไม่เท่ากัน ทำกำไรไม่เท่ากันในปี 2543 เพื่อรอเข้าตลาด แต่เมื่อมีบริษัทเดียวที่เข้าตลาดได้ วินมาร์ค กลับขายหุ้นนั้นออกไปเพียง 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่ง** และมีการโอน 2 ต่อในเวลาอันสั้น ผ่าน 3 กองทุนมาเลเซีย ซึ่งมีที่อยู่เดียวกัน และ วินมาร์ค ก็มีที่อยู่เดียวกับแอมเพิลริช ซึ่งอดีตผู้นำก็ยอมรับว่าเป็นของตนอยู่แล้ว 4 ปีต่อมา วินมาร์คก็ขายหุ้นทั้งหมดกลับให้ลูกสาวในราคาพาร์ทั้ง 5 บริษัท ราวกับไม่ต้องต่อราคาเลย สะท้อนว่าเป็นการโอนย้ายระหว่างโนมินีกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ?

1.2)วินมาร์คมีรหัส 121751 ซึ่งถือหุ้นที่มีกิจการสัมปทานผูกขาด ตามหลักฐานที่ปรากฎตามข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งผู้สนใจสามารถดูได้ทั่วไป

1.3)ธ. ยูบีเอส ได้ทำรายงาน 246-2 ว่าหุ้นที่ถือโดยแอมเพิลริชและวินมาร์คเป็นของบุคคลเดียวกัน ผ่านจุด 5% หากไม่ใช่ของเจ้าของเดียวกันจริง ธ. ยูบีเอส คงทำเรื่องขอแก้ไขข้อมูลได้โดยไม่อยาก โดยน่าจะยืนยันได้ง่ายว่า เพราะหุ้นของแอมเพิลริช และวินมาร์คไม่ได้มีเจ้าของแท้จริง (Beneficiary Owner) เดียวกัน อย่างมาก ก็จะเสียชื่อเล็กน้อยที่อาจแสดงว่า ธนาคารระดับโลก ปฏิบัติเรื่องนี้โดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย หรือโดยไม่รู้กฏหมาย แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น จึงอาจจะน่าเชื่อมากกว่าว่าปฎิบัติไม่ผิดหรอก เพราะเป็นเจ้าของเดียวกันจริง

1.4)ตามข่าว ในการโอนหุ้นให้ลูกมูลค่า 700 ล้านบาท กลับมีตั๋วสัญญาใช้เงิน 4,500 ล้านบาทก่อนหน้านั้น 1 วัน แสดงว่า ไม่ได้โอนจริงหรือไม่ ? เป็นเครื่องมือให้คืนผลประโยชน์ต่อมาหรือไม่ ? การให้เหตุผลได้ว่า ตั๋วสัญญาดังกล่าวเป็นค่าอะไร ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากหากเป็นเรื่องจริง เช่น ค่าบ้าน ค่าเรียน หรือ ค่าของเล่นหรือไม่ ?

1.5)การโอนหุ้นจาก น.ส. ดวงตา วงศ์ภักดี มูลค่าประมาณ 730 ล้านบาท ให้คนใกล้ชิด ก็มีหน้าตาเหมือนย้ายโนมินี ซึ่งฟังคำอธิบายว่า ของขวัญแก่ลูกก็รู้สึกแปลก เพราะไม่ใช่เวลาพอดี และเป็นเลขที่พอดีกับจำนวนหุ้นมากกว่ามูลค่าของขวัญที่ปรกติจะให้กันเป็นเลขกลมๆ หรือเลขมงคล จะว่าไป ดูเหมือนลูกสาวคนเล็กยังไม่ได้รับส่วนแบ่งอีกด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีภารกิจความเป็นโนมินีแล้วหรือไม่ ?

ข้อมูลเหล่านี้ มีหลักฐาน และเหตุผลมาโต้แย้ง ก็คงไม่ยากที่จะทำให้หายคลางแคลงใจ และรักษาศรัทธาของประชาชน กระบวนกรยุติธรรมจะได้เดินหน้า เป็นหลักสร้างความสงบและความเป็นธรรมในบ้านเมือง

การที่นักการเมืองจะไม่แก้ข้อกล่าวหาต่างๆ แต่กลับสร้างความเข้าใจผิดว่า ศาลมิได้พิจารณาตามความยุติธรรม จะเป็นการใช้ต้นทุนประเทศ ในการลดมาตรฐาน และความศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่สมควร

2.ต้นทุนระดับจริยธรรมของประชาชน : นักการเมือง พยายามสร้างความรู้สึกต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างพรรคพวกปกป้องตนเอง เช่น "ทุกคนก็โกงทั้งนั้น" "โกงก็ไม่น่าเป็นไร ขอให้ทำงานก็แล้วกัน" ผมสงสารประเทศ สงสารลูกหลาน ถ้าทุกคนเชื่อในมาตรฐานที่ต่ำเช่นนั้นจริงๆ บ้านเมืองในยุคต่อไปจะเป็นอย่างไร

3.ต้นทุนความเบื่อการเมืองของประชาชน : นักการเมือง จงใจประท้วงมากมาย เมื่อมีการอภิปรายเนื้อหาที่เป็นหลักฐานสำคัญ จนดูเหมือนความหวังคือ ทำให้ประชาชนเบื่อ และสนใจการเมืองน้อยลง

4.ต้นทุนการใช้เงินของชาติเอาใจประชาชนใกล้ตัว : นักการเมืองขาดความละอายใจ เมื่อมีคดีความต่างๆ ก็ยังอ้างอำนาจที่มี ใช้เงินของชาติเพื่อสร้างประชานิยม ทั้งๆ เงินของชาติก็เป็นเงินประชาชนอยู่แล้ว ควรที่รัฐจะใช้ เพื่อสร้างสิ่งต่างๆ ในการพัฒนาคน และโครงการต่างๆ เพื่อให้คนไทย สามารถสร้างได้มากขึ้น แข่งขันได้มากขึ้น หายจนอย่างถาวร ไม่ใช่ต้องคอยพึ่งนักการเมืองเฉพาะหน้า แต่รักษาความจน และความ "ต้องพึ่งพา" ต่อไป

ผมยังภาวนาขอให้คนไทย รู้รักสามัคคี ไม่ยอมรับความแตกแยก เชื่อทางสว่าง ส่งเสริมความดี ให้กำลังใจรัฐบาลในการบริหารบ้านเมืองอย่างสุจริต ไม่สร้างภาระต้นทุนบ้านเมืองอย่างฟุ่มเฟือย เพียงเพื่อปกป้องตนเอง บ้านเมืองก็จะไม่เข้าสู่วิกฤต เศรษฐกิจจึงจะดีต่อไปได้ในระยะยาวครับ

มนตรี ศรไพศาล
(ฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย) montree4life@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น