xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูล บ.G งาบรถเมล์ NGV แสนล. โยงใยแก๊งมาเฟียครองเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองเลขาฯ ปชป. เปิดโปงขบวนการงาบรถเมล์ ขสมก. มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พบข้อมูลโยงใย 3 แก๊งมาเฟียครองเมือง ทั้งกลุ่ม Mr.T-Mr.S รมต.เศรษฐกิจ นายทุนพรรค รวมหัวล็อกสเปกทีโออาร์ เปิดทางบริษัท G เข้าประมูลได้เพียงรายเดียว ชี้ความเสียหายสูงกว่า 1 หมื่นล้าน ประชาชนต้องรับภาระค่ารถแพงลิ่ว คาดสรุปข้อมูลยื่นซักฟอกได้วันนี้

วันนี้ (12 มิ.ย.) นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยความคืบหน้าในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ข้อมูลที่ตนจะเสนอให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือกรณีการติดตามการปรับปรุงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยการจำหน่ายรถโดยสารเดิมที่มีอยู่ 3,535 คัน เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และให้ดำเนินการเช่ารถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) จำนวน 6,000 คัน โดยอ้างว่าการทำกิจการรถโดยสารของ ขสมก.ที่ใช้น้ำมันดีเซลทำให้กิจการขาดทุน เพราะไม่สามารถเก็บค่าโดยสารแพงได้ ประชาชนที่ใช้บริการเป็นผู้มีรายได้น้อย

ดังนั้น เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2550 ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขสมก.มีการประกาศเชิญชวนภาคเอกชนให้มาศึกษาการจะเปลี่ยนรถโดยสารของ ขสมก.ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ด้วยการให้บริษัทที่สนใจมาลงทุนทำเป็นรถทดลองโดยนำเครื่องเก่าออกแล้วติดตั้งเครื่องยนต์ระบบก๊าซ ซึ่งมีบริษัทที่สนใจ 10 รายเข้าร่วม แต่ยังเป็นขั้นการศึกษาเท่านั้น

นายถาวร กล่าวอีกว่า หลังจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 5 คณะ ที่รวมถึงคณะกรรมการจัดการระบบขนส่งทางรางและขนส่งมวลชน ที่มีนายสมัคร เป็นประธานฯ มีนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกฯ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง เป็นรองประธาน รวมถึงนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม เป็นกรรมการ โดยจัดทำโครงการเร่งด่วนด้วยการขออนุมัติจากคณะกรรมการชุดนี้ในการเช่ารถโดยสารปรับอากาศใหม่จำนวน 6,000 คน

ทั้งนี้ คณะติดตามศึกษาการทำงานของรัฐบาลพบว่า มีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานคือบริษัทที่มีชื่ออักษรย่อว่า 'G' ภายในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และยังได้ถูกนำเข้าที่ประชุม ครม.เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งถือเป็นท่าทีลุกลี้ลุกลนของรัฐบาล

รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเอกสารการศึกษาของ ขสมก.ที่ได้รับมา มีการระบุว่า ค่าเช่ารถโดยสาร 2,114 บาทต่อคันต่อวัน และยังมีค่าซ่อม ค่าอยู่ ค่าภาษี ค่าประกันภัย ค่าลงทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมเฉพาะตัวรถ เป็นเงิน 5,100 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนค่าเดินรถอีก 4,700 บาท รวมเป็นเงิน 9,800 บาท

นอกจากนี้ รายละเอียดในเอกสาร ยังระบุอีกว่า ผลประกอบการจากที่ขาดทุนในปี 2551 จำนวน 7,192 ล้านบาท และปี 2552 คาดว่า ขาดทุน 12,392 ล้านบาท แต่เมื่อมีการเช่ารถโดยสารดังกล่าวมาให้บริการ ขสมก. จะทำกำไรได้ในปี 2553 จำนวน 690 ล้านบาท และจะทำกำไรมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปนั้น

ซึ่งตงนี้ นายถาวร ยืนยันว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ และถือเป็นการปั่นตัวเลขเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อทำให้โครงการนี้ผ่านการอนุมัติ เพราะตอนนี้ ขสมก.ขาดทุนเฉลี่ยปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยมีรถให้บริการประมาณ 3,000 คัน

นายถาวรกล่าวว่า การอนุมัติโครงการโดยการเพิ่มรถติดเอ็นจีวี 6,000 คัน จะไปหาผู้โดยสารมาจากไหน เพราะจำนวนจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะมีระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟลอยฟ้าก็มีเพิ่มขึ้น แล้วจะเอาผู้โดยสารรถ ขสมก.มาจากที่ไหนเพิ่ม ที่สำคัญมีการเก็บค่าโดยสารแพงขึ้นเป็นอัตรา 15-30 บาท ประชาชนที่มีรายได้น้อยจะเลือกใช้บริการรถโดยสารดังกล่าวหรือ

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นการสร้างหนี้จากการจ่ายค่าเช่ารถ 2,114 บาทต่อคันต่อวัน โดยตั้งเป้าการเช่ารถไว้ 10 ปี รวมค่าเช่ารถคันละ 8 ล้านกว่าบาท ขณะที่เอกชนซื้อรถมาในราคาคันละ 2.6-2.8 ล้านบาท อีกทั้งการใช้วิธีเช่าแทนการเช่าซื้อนั้นจะทำให้ไม่ต้องถูกกระบวนการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าการกระทำของรัฐบาลในเรื่องนี้ส่อทุจริต

"ถ้าทำโครงการนี้สำเร็จ จะทำให้รัฐเกิดความเสียหายมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และจะมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเป็นเงินมากกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายได้รับเงินก้อนนี้ คือ 1.กลุ่มของมิสเตอร์ที และมิสเตอร์เอส ที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ 2.กลุ่มคนที่เป็นรัฐมนตรี และกลุ่มที่ 3.ผู้บัญชาการพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง และสนิทสนมกับนักธุรกิจชาวจีนคนหนึ่งชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษร L ของบริษัทที่ชื่ออักษรย่อ G ซึ่งนักธุรกิจคนนี้กำลังถูกดำเนินคดีฐานนำรถนำเข้าโดยหลบเลี่ยงภาษีศุลกากร

นอกจากนี้ รมว.คมนาคม และนายทรงศักดิ์ รมช.คมนาคม ยังเคยออกมาบอกว่า อยากได้บริษัทเอกชนรายเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารและดูแล ขณะที่โครงการที่มีมูลค่าแสนล้านบาท บริษัทเอกชนต้องมีเงินค้ำประกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งส่อให้เห็นว่าเป็นการล็อกสเปกในการเขียนทีโออาร์

รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ พรรคจึงสามารถนำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ เพราะส่อทุจริต โดยขณะนี้อยู่ในขั้นพยายามและอาจจะมีการได้รับประโยชน์ไปบ้างแล้ว แม้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะมีมติตีกลับโครงการนี้ให้ ขสมก.ไปจัดทำแผนรายละเอียด เพื่อกลับมาขออนุมัติแผนดำเนินการอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ก็ถือว่ารัฐบาลอยู่ในขั้นตระเตรียมจะทุจริต ซึ่งที่ประชุมวิปฝ่ายค้านพิจารณาในนี้ เพื่อขอมติว่า พรรคควรจะนำเรื่องนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น