xs
xsm
sm
md
lg

“ทรงศักดิ์” โต้ข่าวไอ้โม่งงาบหัวคิวรถเมล์ NGV แสนล.ท้า ปชป.โชว์ใบเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทรงศักดิ์” โต้ข้อกล่าวหา ปชป.เปิดโปงไอ้โม่งระดับบิ๊กในรัฐบาล งาบหัวคิวรถเมล์ปรับอากาศ NGV จำนวน 6 พันคัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมเรียกร้องให้เอาหลักฐานการทุจริตมาแสดง ยืนยัน เดินหน้าชงเข้า ครม.พรุ่งนี้ ตามแผนปฏิรูป ขสมก.ระบุ หากล่าช้าอาจโดนค่าปรับคันละ 1 หมื่นบาท

วันนี้ (9 มิ.ย.) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีข้อกล่าวหาที่พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า มีนักการเมืองได้รับประโยชน์จากโครงการเช่ารถโดยสารปรับอากาศ 6 พันคัน มูลค่า 1 แสนล้านบาท ถือเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะขณะนี้โครงการยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกระทรวงเตรียมยื่นเสนอให้ ครม.พิจารณาในวันพรุ่งนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

หาก ครม.อนุมัติจะต้องจัดทำร่างสัญญาและเงื่อนไขการเช่า หรือทีโออาร์ และจัดประกวดราคาแบบ อี-ออกชัน หลังจากนั้น จะมีความชัดเจนของอัตราค่าเช่ารถโดยสาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการประกวดราคาที่โปร่งใสหรือไม่ และเงื่อนไขทีโออาร์กำหนดให้เอกชนต้องจัดหารถให้บริการครบทั้ง 6 พันคัน ในแต่ละวัน หากไม่เป็นไปตามกำหนด เอกชนผู้ให้เช่าต้องเสียค่าปรับคันละ 1 หมื่นบาท

“ผมยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งการตรวจสอบนักการเมืองจะต้องดูก่อนว่า มีการกระทำทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ การออกมาพูดก่อนที่จะทำโครงการเหมือนมีเจตนาทำให้ต้องชะลอโครงการ ทั้งที่เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯ ไม่แน่ใจว่าจะมีคนเสียฐานคะแนนเสียงในกรุงเทพฯหรือไม่ หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ”

รมช.คมนาคม กล่าวว่า เมื่อรถโดยสารทั้ง 6 พันคัน เข้ามาในระบบจะส่งผลให้ ขสมก.มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 11,244 บาทต่อคันต่อวัน จากปัจจุบันที่มีรายได้ 5,077 บาทต่อวันต่อคัน ส่วนค่าใช้จ่ายจะลดลงเหลือวันละ 9,806 บาท จากเดิม 10,615 บาท หรือมีกำไรเฉลี่ยวันละ 1,438 บาทต่อวันต่อคัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากค่าเช่ารถในอัตรา 5,100 บาทต่อคันต่อวัน

ทั้งนี้ ค่าเช่าดังกล่าวจะรวมถึงค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย ค่าอู่จอดรถ สถานที่ทำการ ระบบตั๋วอิเลกทรอนิกส์ และระบบระบบตรวจสอบการเดินรถ หรือจีพีเอส และจีพีอาร์เอส บนรถโดยสารและป้ายหยุดรถ ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้รับภาระทั้งหมด

ส่วนแผนปรับปรุงกิจการ ขสมก.ยังประกอบไปด้วยการขอความช่วยเหลือให้กับ ขสมก.โดยขอเงินเพื่อใช้ในโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดในวงเงิน 6.2 พันล้านบาท, เงินทุนหมุนเวียน 3.5 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2552 พร้อมระบุว่า ขสมก.จะชำระคืนปีละ 500 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2553-2559, ให้กระทรวงการคลัง รับหนี้สิน 6.95 หมื่นล้านบาท, ขออนุมัติขายรถโดยสารเก่าทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถปรับอากาศ 3,535 คัน เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และขอรับการสนับสนุนเงินกู้รายย่อยจากธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ให้กับพนักงานที่มีหนี้สินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 2 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 2 แสนบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น