xs
xsm
sm
md
lg

"ทริส"หวั่นไทยถูกหั่นเครดิต เหตุการเมืองป่วน-ศก.ยังเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทริสเตือนไทยมีสิทธิ์ถูกปรับลดอันดับเครดิต หากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีความรุนแรงขึ้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมั่นใจจีดีพีโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 5%ด้านอัตราดอกเบี้ยคาดถึงจุดต่ำสุดแล้ว

นายวรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด และบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดความขัดแย้งกันในขณะนี้ เป็นปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะถูกลดอันดับเครดิตลงได้ โดยในปัจจุบันมุมมองของสถาบันจัดอันดับต่างชาติให้น้ำหนักความเสี่ยงด้านการเมืองของประเทศไทยอยู่ในระดับสูงเทียบเท่าประเทศปากีสถานและประเทศศรีลังกา รวมถึงความเสี่ยงด้านการดำเนินนโยบายบริหารยังอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน และถือว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศกัมพูชา เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันเครดิตประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองไม่เลวร้ายจนเกินไปยังคงมั่นใจได้ว่าต่างชาติจะยังไม่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทยลง เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่ง และคาดว่ายังมีโอกาสขยายตัวต่อไปได้อีก

"ในช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา 2 สถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลกทั้ง 3 แห่งคงอันดับเครดิตประเทศไทยที่ BBB+ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรี ปัญหาการฆ่าตัดตอน เหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร หรือการวางระเบิดในกรุงเทพและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข้มแข็ง แม้จะเห็นการชะลอตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนบ้างก็ตาม แต่การส่งออกก็ยังขยายตัวได้ดีอยู่ แต่ ณ วันนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเริ่มไม่เหมือนเดิม มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง หากการเมืองเลวร้ายลงในระดับหนึ่งก็จะกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้น"นายวรภัทรกล่าว

ด้านอัตราเงินเฟ้อปีที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 5-5.5% หากดูย้อนหลังจะเห็นว่า เคยสูงถึง 5.1%มาแล้ว ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยอยู่ที่ 8-10% ก็ถือว่ายังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่และสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อเกิดจากอุปสงค์ที่สามารถแก้ได้โดยการเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อลดอุปสงค์ลง แต่ปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ 5% ซึ่งใกล้เคียงกับ GDP และมีผลกระทบที่แตกต่างกัน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากและลำบาก และเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ จากปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้น หากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายจะต้องทำในหลายๆด้านควบคู่กัน เช่น การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ให้การบริโภคเพิ่มขึ้นและการลงทุนขยายตัวด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจปีนี้โตได้ 5% ตามที่คาดไว้ แต่หากภาวะเงินเฟ้อมีทิศทางที่ดีขึ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากจนเกินไป ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้แตะระดับสูงจนไปถึง 170-180 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และการเมืองคลี่คลายลง หรือเกิดเหตุการณ์รุนแรงจนเกินไปก็น่าจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นและอาจเป็นไปได้ว่าจีดีพี มีโอกาสโตเกิน 5.5% ได้

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น ปัจจุบันไม่สามารถวิเคราะห์ทิศทางดอกเบี้ยในประเทศได้ว่าจะปรับขึ้นหรือลงในช่วงเวลาใดเพียงแต่ประเมินเบื้องต้น คาดการณ์ว่าปัจจุบันระดับดอกเบี้ยถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว โอกาสที่จะลงต่ำกว่านี้เป็นไปได้น้อย ซึ่งการปรับขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้จะช่วยควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้บ้าง แต่ก็จะมีผลกับปัจจัยอื่นทางเศรษฐกิจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น