xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 51 อยู่ที่ระดับ 4.8-6.0% กังวลเงินเฟ้อพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 51 อยู่ที่ระดับ 4.8-6.0% ขณะที่เงินเฟ้อ 4-5% ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ กระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ

วันนี้(22 เม.ย.) นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุด ปรับเป้าหมายอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2551 มาอยู่ที่ระดับ 4.8-6.0% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.5-6.0% ส่วนในปี 2552 ยังคงเป้าประมาณการณ์อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 4.5-6.0% ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 51 มาที่ 4-5% จากเดิม 2.8-4.0% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเป็น 1.5-2.5% จาก 1.3-2.3%

ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 ยังคงอยู่ที่ 4.5-6.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้ปรับสูงขึ้นกว่าประมาณการ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8-4.3% และ 2.0-3.0% ตามลำดับ

"เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวดี โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล"

ทั้งนี้ ธปท.ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปว่า ความเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน ได้แก่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจปรับสูงขึ้นอีกจากอุปทานน้ำมันที่ค่อนข้างตึงตัว ตลอดจนความผันผวนของพฤติกรรมการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า , เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดจากปัญหาซับไพร์ม ที่อาจรุนแรงกว่าที่คาด ซึ่งน่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ยิ่งอ่อนค่าเร็ว และส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่ากรณีฐาน ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความชัดเจนของนโยบายรัฐบาล แม้ว่าขณะเดียวกันจะยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคเอกชนอยู่บ้าง

ด้านอัตราเงินเฟ้อแม้ว่าจะเร่งตัวจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนบ้าง แต่ไม่ถึงกับบั่นทอนการใช้จ่ายในส่วนที่ถูกชะลอมานาน แต่ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรณีฐาน ได้แก่ ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงอื่นๆ รวมทั้งราคาพืชผลเกษตรที่อาจสูงกว่าคาด แต่ความเข้มงวดของมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริหาร อาจทำให้การส่งผ่านต้นทุนทำได้น้อยกว่าที่คาด ขณะที่ ปัจจัยอีกส่วนที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำ คือ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า

น.ส.ดวงมณี ระบุอีกว่า ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุด ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบปี 51 และ ปี 52 เร่งขึ้นเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ค่อนข้างมาก โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้ได้ปรับเพิ่มกรณีฐานมาที่ 93.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่ 85.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีโอกาสที่อาจปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 112.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากนั้นในปี 52 มองราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 94.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ขณะที่สมมติฐานราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่เชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพลังงานชีวภาพ และจากราคาสินค้าในหมวดโลหะพื้นฐานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงที่ผ่านมา

ธปท. ยังคาดด้วยว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะปรับลดลงเหลือ 1.50 ต่อปี สิ้นไตรมาสที่ 3/51 และทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวตลอดช่วงที่เหลือของการประมาณการ
กำลังโหลดความคิดเห็น