xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ทิศทางธุรกิจ IT-อสังหาฯ บูมโชห่วยเสี่ยงเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยโทรคมนาคม ยานยนต์ ท่องเที่ยว แฟชั่น อาหาร และอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นธุรกิจดาวเด่นในปีนี้ เหตุนโยบายรัฐหนุนเต็มที่ ส่วนสิ่งทอ เครื่องหนัง โชห่วย เป็นธุรกิจที่เสี่ยงขาดทุนมากที่สุด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มทิศทางธุรกิจไทยปี 2551 ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่า จะมีผลประกอบการที่ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ ธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจใหม่ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์และบริการคอมพิวเตอร์ ธุรกิจที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและตามยุทธศาสตร์ เช่น ท่องเที่ยว ยานยนต์ แฟชั่น ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากอัตราสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน เช่น อสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ยานพาหนะ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนธุรกิจที่คาดว่า จะมีผลประกอบการที่ไม่ดีนัก ได้แก่ ธุรกิจที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีน้อย เช่น ธุรกิจการรับจ้างผลิตสินค้าที่ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้มากนัก ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนัง และธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิม (โชว์ห่วย) ซึ่งจะมีอัตราการแข่งขันที่ลำบากเมื่อเทียบกับธุรกิจกลุ่มอื่น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในปี 2551 ที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.5-5.5 % ตามที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยในปีนี้ที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ การดำเนินนโยบายของภาครัฐที่มีการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มการหารายได้ลดค่าใช้จ่าย การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนภาครัฐ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงปีนี้ยังเป็นเรื่องของอัตราค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้นทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันขายปลีกที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ประมาณ 4.5% ซึ่งปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด ภาครัฐจะต้องดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการดูแลค่าเงิน ดูแลต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น