xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมัน...ปัจจัยลบฉุดเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นทุกวันกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอาเป็นว่าผลกระทบของมันส่งผลรุนแรงขึ้นทุกวัน ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ และการใช้ชิวิตประจำวันของคนไทย

โดยล่าสุดราคาขายปลีกในประเทศ ทั้ง เบนซิน และดีเซล ปาเข้าไปเกือบ 40 บาท/ลิตร ให้แล้ว หลังผู้ค้าปลีกภายในประเทศมการประกาศขึ้นราคาอีกระลอกในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ของปียังพอจะมีปัจจัยบวกเข้ามากลบปัญหานี้ได้ แต่ต่อจากนี้แน่นอนว่าปัญหานี้น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของเงินเฟ้อ และราคาสินค้าที่จ่อปรับราคาขึ้นกันอีกหลายแขนง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) เพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 อย่างไรก็ดี ถ้าหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Q-o-Q) คาดว่ามีทิศทางชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน ที่ได้รับแรงหนุนจากความชัดเจนทางการเมืองในประเทศ หลังการจัดตั้งรัฐบาลและการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยคาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 5.6 และการลงทุนอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (สูงขึ้นจากร้อยละ 1.6 และร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 ตามลำดับ) ในขณะที่ภาคการเกษตรยังได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรต่างๆ ที่อยู่ในระดับสูง

การนำเข้าในช่วงที่ผ่านมามีการเร่งตัวขึ้นมาก ตามภาวะการใช้จ่ายของภาคเอกชนและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกชะลอตัวลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้ดุลการค้าของไทยมีฐานะขาดดุลในไตรมาสแรกนี้ แต่ฐานะดุลบริการที่เข้มแข็ง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล

น้ำมัน-เงินเฟ้อ ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้มีสัญญาณบ่งบอกถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ในเดือนเมษายน 2551 ขณะที่สถานการณ์ภายนอกประเทศยังคงมีปัจจัยกดดันภาวะราคาสินค้าให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะไปถึงระดับ 150 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล

นอกเหนือจากปัจจัยในด้านราคาน้ำมันและราคาสินค้าอาหาร ที่ส่งผลกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อมาก่อนหน้านี้แล้ว การปรับค่าโดยสารรถสาธารณะจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะขยับสูงขึ้นไปได้อีก โดยอัตราเงินเฟ้อในบางเดือนของไตรมาสที่ 3 อาจจะขยับขึ้นไปถึงร้อยละ 7 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะนับว่าเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 10 ปี และกว่าที่จะเริ่มเห็นเงินเฟ้อค่อยๆอ่อนตัวน่าจะเป็นในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงขึ้นในปีก่อน

จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Q-o-Q) จากผลของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Y-o-Y) อาจจะใกล้เคียงร้อยละ 5.0 เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไปยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง โดยเป็นผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังคงมีระดับสูงต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภายในประเทศยังมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรและภาคเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.8 ในปี 2550

เศรษฐกิจไทยในปี 51 ขยายตัวร้อยละ 4.9
โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.8 ในปีก่อนหน้า โดยในกรณีสมมติฐานหลัก ได้มีการปรับค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (เบรนท์) ขึ้นมาเป็น 114.0 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ตามทิศทางราคาน้ำมันและราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับเพิ่มค่าจ้างและค่าโดยสารรถสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการบริโภค ขณะที่การลงทุนมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนในปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2550 (เป็นระดับการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี)
ส่วนการลงทุนคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 6.2 สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2550 (เป็นระดับการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี) ขณะที่การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 ของจีดีพี สำหรับภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คาดว่ามูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ จะขยายตัวประมาณร้อยละ 17.0 ชะลอลงจากร้อยละ 18.1 ในปี 2550

สำหรับมูลค่าการนำเข้าขยายตัวประมาณร้อยละ 28.0 เร่งตัวขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 9.6 ในปี 2550 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ลดลงมากจากระดับที่เกินดุล 14.9 พันล้านดอลลาร์ฯในปี 2550 ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ลดทอนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลง
กำลังโหลดความคิดเห็น