xs
xsm
sm
md
lg

"คลัง"คงเป้าจีดีพี 5-6% เงินเฟ้อพุ่งในอัตราเร่ง 7.2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 5-6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มในอัตราเร่ง 7.2%
วันนี้ (25 มิ.ย.) นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2551 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสามารถรองรับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศได้ดี โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี เท่ากับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมีนาคม 2551 และปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี เนื่องจากได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากอัตราการขยายตัวในไตรมาส 1 ปี 2551 ที่สูงถึงร้อยละ 6.0 ต่อปี

ขณะที่แรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงขยายตัวได้ดี ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลางที่เติบโตในระดับสูง และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนลงกว่าที่คาดการณ์เดิม ส่งผลให้การส่งออกของไทยที่เปลี่ยนไปยังตลาดใหม่ยังคงเติบโตได้ดี (Export Decoupling) อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงมาตรการรัฐบาลเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล แต่คาดว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ลดลง

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกในปี 2551 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่ายังคงเกินดุลที่ร้อยละ 1.0 -2.0 ของ GDP แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2551 มีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.0-8.0 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจไทยในปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี) เพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 ที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศในปี 2551 ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2551 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 7.5-8.5 ต่อปี) จากที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.1 ในปี 2550

เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกของไทยที่เปลี่ยนไปยังตลาดใหม่ ซึ่งยังมีแนวโน้มการเติบโตในระดับสูง (Export Decoupling) และค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม รวมทั้งรายได้จากการบริการท่องเที่ยวของต่างชาติที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปี 2551 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศมาอยู่ที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 9.2-10.2 ต่อปี) เร่งตัวขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศคาดว่า การใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แม้ว่าความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง จะดึงให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์เดิม ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในปี 2551 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 ต่อปี) สูงขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ต่อปี

เนื่องจากรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรซึ่งเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรการรัฐบาลเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในปี 2551 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี มาขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 8.0-9.0 ต่อปี)

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงจนใกล้เต็มกำลังการผลิต ประกอบกับโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจำนวนมากในปีก่อนจะเริ่มมีการลงทุนจริงในปี 2551 นอกจากนั้น การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลภายใต้กรอบนโยบายการคลังที่ขาดดุลที่ร้อยละ -1.8 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2551 และที่ร้อยละ -2.5 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2552 รวมทั้งการเร่งรัดโครงการลงทุนของภาครัฐที่ล่าช้ามาจากปีก่อน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นในปี 2551 นี้

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศในปี 2551 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ในปี 2551 คาดว่ายังคงเกินดุลอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณร้อยละ 1.4 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0-2.0 ของ GDP) แม้ว่าจะเป็นการเกินดุลที่ลดลงจากปีก่อนตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 20.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 19.3-21.3 ต่อปี) แต่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในปี 2551 เร่งตัวขึ้นถึงร้อยละ 30.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 29.0-31.0 ต่อปี) เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 คาดว่าจะปรับตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0-8.0 ต่อปี) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น