xs
xsm
sm
md
lg

อนุมัติไพศาลสตีลลงทุน1.47พันล."ผลิตเหล็กแท่งหวังลดการนำเข้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- อนุฯบีโอไออนุมัติบ.ไพศาลสตีล ผลิตเหล็กแท่งเพื่อผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างหรือเหล็กลวดมูลค่า 1.47 พันล้านบาทหลังแนวโน้มเหล็กแท่งตลาดโลกราคาพุ่งแถมหายากเหตุผู้ผลิตหันไปผลิตสำเร็จรูปมากกว่า ขณะที่สถาบันเหล็กเสนอไอเดียดึงผู้ผลิตเหล็ก10รายร่วมผลิตเหล็กเส้นลดต้นทุนเล็งยื่นสุวิทย์หนุน

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ ) ที่มีนายประวิช รัตนเพียร ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการ ฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้บริษัท ไพศาลสตีล จำกัด เพื่อผลิตเหล็กแท่ง ( STEEL BILLET ) ที่จะนำไปใช้ในการผลิตเหล็กรูปพรรณขนาดเล็กเหล็กเส้นก่อสร้างหรือเหล็กลวด มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,475 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่จังหวัดชลบุรี

" ที่ผ่านมาไทยยังต้องนำเข้าเหล็กแท่ง ปีละกว่า 1.5 ล้านตัน มูลค่า 10,000 - 15,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่เหล็กแท่งจะหาซื้อยากและมีราคาสูงเพราะ ผู้ผลิตต่างชาติหันไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเหล็กที่ไม่มีเตาหลอม ต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงกับการขาดแคลนเหล็ก โดยการอนุมัติส่งเสริมลงทุนครั้งนี้ จะช่วยลดปัญหาการซื้อวัตถุดิบเหล็กจากต่างประเทศ และลดการนำเข้าเหล็กแท่งได้ " นายสุวิทย์กล่าว

สำหรับบริษัท ไพศาลสตีล จำกัด นี้ หลังจากได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว คาดว่าจะก่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เศษเหล็ก และปูนขาว เป็นต้น มูลค่ารวม 2,121 ล้านบาท และสามารถผลิตเหล็กแท่งได้ปีละ 250,000 ตัน จากกำลังการผลิตเหล็กแท่งทั้งประเทศรวมปีละ 4,940,000 ตัน

ทั้งนี้จากปัญหาราคาเหล็กตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเพราะผู้ผลิตต่างประเทศหันไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปมากกว่าอดีตทำให้ภาพรวมมูลค่าการนำเข้า เศษเหล็กและเหล็กแท่งของไทยช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณการนำเข้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยตั้งแต่ปี 2549 มูลค่าการนำเข้าเหล็กแท่งอยู่ที่ 22,660 ล้านบาท ปี 2550 มูลค่าการนำเข้าเหล็กแท่งลดลงเหลือเพียง 13,945 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2551 นี้ มีมูลค่าการนำเข้าเหล็กแท่ง 5,798 ล้านบาท

นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้บอร์ดสถาบันเหล็กฯได้หารือถึงการแก้ไขปัญหาเหล็กเส้นแพงที่จะกระทบกับผู้บริโภคโดยตรงเนื่องจาก วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปในการผลิต หรือเหล็กแท่งทรงยาว(บิลเลต)มีราคาแพงและขาดแคลน โดยเบื้ องต้นจึงมีแนวคิดให้ผู้ประกอบการที่มีเตาหลอมเหล็กในประเทศกว่า 10 บริษัทร่วมมือกันใช้กำลังการผลิตที่เหลืออยู่ประมาณ20% หรือประมาณ 1 ล้านตัน นำเข้าเศษเหล็กมาผลิตบิลเลตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศ แทนการนำเข้าบิลเลตโดยตรงที่มีราคาแพงกว่า และหายาก เพื่อบรรเทาปัญหาระยะสั้นในช่วง 2 ปีนี้ ไม่ให้ราคาเหล็กเส้นปรับขึ้นมาก

"เรื่องนี้จะหารือกับเอกชนและนำเสนอรมว.อุตสาหกรรมให้พิจารณาในเรื่องมาตรการจูงใจให้เกิดความร่วมมือกัน พร้อมกับรัฐบาลจะต้องมาช่วยดูแหล่งวัตถุดิบด้วย โดยอาจจะมีการเจรจาเพื่อหาแหล่งวัตถุดิบให้ เช่นเจรจาแลกข้าวกับเศษเหล็กกับรัสเซีย "นายวิกรมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น