xs
xsm
sm
md
lg

เป็นไปได้!! หมอสั่งยาผิด คนไข้ตกเป็นเหยื่อ “แพทยสภา” เตรียมหามาตรการป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แพทยสภา” หวั่นคนไข้เป็นเหยื่อจากการกินยาผิด เตรียมหามาตรการล้อมคอก ยอมรับหมอไทยต้องเขียนใบสั่งยาปีละกว่า 200 ล้านใบ ทำให้มีโอกาสผิดพลาดได้มาก ด้าน อย.รับแพทย์ไทยชอบสั่งยาเมืองนอก เพราะไม่เชื่อมั่นคุณภาพโรงงานยาไทย ทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพเท่าเทียม แต่ราคาต่างกันริบ หนุนผู้ประกอบการยกระดับการผลิต พร้อมเจรจาบีโอไอส่งเสริมการลงทุน ปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้มาตรฐานสากล

วานนี้ (11 มิ.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เดน ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการผลิตยาในประเทศไทย ว่า ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้ายาแผนปัจจุบันเริ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยาที่ผลิตได้ในประเทศ โดยในปี 2549 มูลค่าการนำเข้ายาสูงถึง 45,000 ล้านบาท เพิ่มจาก 30,000 ล้านบาท ในปี 2547 และ 38,000 ล้านบาท ในปี 2548 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อย.ค่อนข้างกังวลใจ จึงได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตยาของประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากประชาคมโลก
โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตยาในประเทศจำนวน 153 แห่งจาก 167 แห่งได้รับการรับรองคุณภาพตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา หรือ จีเอ็มพี ส่วนที่ยังไม่ผ่านการรับรองส่วนหนึ่งเป็นโรงงานผลิตยาที่ตั้งมานาน และขาดงบประมาณในการปรับปรุงโรงงานหรือนำเข้าเครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่ง อย.ได้หาทางช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ โดยประสานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอในการขอยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักร หรือยกเว้นการจ่ายภาษีในช่วงระยะเวลาที่ขอส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศในการนำเข้ายาจากประเทศไทย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับแพทย์ไทย ที่บางส่วนยังมีความคิดว่า ยาที่ผลิตในโรงงานภายในประเทศ มีคุณภาพมาตรฐานต่ำกว่ายาที่ผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นความจริง ยาหลายชนิดที่ผลิตภายในประเทศ มีการศึกษาชีวสมมูลของยา แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยาต้นแบบ หรือยาที่ผลิตในต่างประเทศ แต่ราคาต่างกันเป็นสิบเท่า

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้ดำเนินโครงการศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างระบบในการเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกหลายบริษัท ได้มีการเก็บข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยา และพบตัวเลขที่น่าตกใจว่าในแต่ละปีมีคนตายจากการใช้ยาโดยไม่ปลอดภัยถึงกว่า 7,000 ราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ยังไม่รวมผลกระทบอื่นๆ เช่น การแพ้ยา ซึ่งมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงเจ็บป่วยรุนแรง การกินยาผิด เป็นต้น

รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวต่อว่า ในส่วนของแพทยสภาได้เริ่มดำเนินการศึกษาและเก็บข้อมูลความปลอดภัยด้านยา พบว่า มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น จากตัวยาเอง จากการให้ยาของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการเขียนใบสั่งยาของแพทย์ ซึ่งในแต่ละปีแพทย์ไทยต้องเขียนใบสั่งยาเฉลี่ยประมาณ 200 ล้านใบ และใบสั่งยาแต่ละใบจะมียาเฉลี่ย 3-4 ชนิด นอกจากนี้ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ยังต้องดูแลผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้รักษาในรพ.ประมาณปีละ 160 ล้านครั้ง และผู้ป่วยใน 40 ล้านครั้ง

“ในกระบวนการกินยาของคนไข้โดยเฉพาะใน รพ.เส้นทางของยาตั้งแต่แพทย์เริ่มสั่งยาไปจนถึงประชาชน ต้องผ่านบุคลากร คือ แพทย์ เป็นผู้สั่งยา เภสัชกร จัดยา พยาบาลจัดยาและให้ยาคนไข้ทั้งยาฉีดและยากิน ในระหว่างทางเหล่านี้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ตลอด”นพ.สัมพันธ์ กล่าวและว่า ความผิดพลาดที่พบในเรื่องของยา คือ ยาที่มีเสียงคล้องกันแต่เป็นยาต่างชนิดกัน การเขียนตัวย่อในใบสั่งยาของแพทย์ ยาที่มีลักษณะของเม็ดยาหรือสีของยาคล้ายกัน อาจจะทำให้เกิดการให้ยาผิด การสร้างระบบความปลอดภัยในการใช้ยาครั้งนี้ ถ้าสามารถลดความผิดพลาดลงได้ 30-40% จะช่วยลดการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาลงได้มาก รวมทั้งเรื่องของการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์ด้วย”นพ.สัมพันธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น