xs
xsm
sm
md
lg

สหวิริยาฯจ้างจีนตั้งโรงถลุงเหล็กมูลค่า 5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - เครือสหวิริยาเซ็นสัญญาแต่งตั้ง Sino-HIT จากจีน เป็นผู้จัดหาและติดตั้งเครื่องจักรโครงการโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจร เฟสแรก 5 ล้านตัน มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท พร้อมจัดหาเงินกู้ให้ด้วย มั่นใจโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากสผ.-บีโอไอ มั่นใจลุยก่อสร้างเสร็จได้ไตรมาส 4 นี้ หลังเซ็นสัญญาเงินกู้และสั่งซื้อแร่เหล็กในไตรมาส 3 /51 ชี้ครึ่งปีหลังราคาเหล็กไม่พุ่งสูงเหมือนต้นปี แต่ราคายังแกว่งตัวขึ้นลงตามราคาน้ำมัน ลุ้นยอดขายSSI ปีนี้แตะ 5 หมื่นล้านบาท หลังผลิตเพิ่ม 20%และราคาเหล็กแผ่นฯพุ่ง

นายวิน วิริยประไพกิจ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงถลุงเหล็กสหวิริยา จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าโครงการโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจรว่า เครือสหวิริยาได้ลงนามสัญญาในการแต่งตั้งผู้จัดการจัดหาและติดตั้งเครื่องจักร (Lead Consortium) โครงการโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจรกับบริษัท SinoInternation Heavy Industry Technology (Sino-HIT) สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยาน มูลค่าสัญญาครั้งนี้ 1 หมื่นล้านหยวน

" กรอบความตกลงเบื้องต้น Sino-HIT จะรับผิดชอบเป็นผู้จัดการจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงเท่ากับผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก พร้อมจัดหาเงินกู้ ช่วยดูแลงานด้านวิศวกรรมทั้งการออกแบบ เทคนิค รวมถึงการอบรมบุคลากร ทำให้เราลดความเสี่ยงด้านการก่อสร้างและการผลิตไปได้มาก นับเป็นก้าวย่างสำคัญของเครือสหวิริยา ซึ่งหลังจากก่อสร้างโครงการนี้เสร็จจะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตเหล้กและเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน"

การลงนามสัญญาครั้งนี้มีมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 มีกำลังการผลิต 5 ล้านตัน/ปี และภายใต้กรอบสัญญาดังกล่าวบริษัทฯมีเงื่อนไขให้ Sino-HIT เป็นผู้จัดหาและเครื่องจักรในเฟสอื่นๆจนครบกำลังการผลิต 33 ล้านตันในอีก 15ปีข้างหน้า คิดเป็นมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ได้ภายในไตรมาส 4 /2551 หลังจากมั่นใจว่าจะได้รับใบอนุญาตการส่งเสริมการลงทุนจาากบีโอไอ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากสผ.ในไตรมาส 3 ปีนี้ โครงการดังกล่าวในเฟสแรกจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี

"สาเหตุที่ตัดสินใจเซ็นสัญญากับSino-HIT เนื่องจากจีนมีความต้องการใช้เหล็กสูงมากคิดเป็น 35%ของโลก โดยมีกำลังการผลิตเหล็กรวมทั้งสิ้น 500 ล้านตัน/ปี ทำให้เทคโนโลยีการผลิตเหล็กไหลเข้าสู่จีน ทำให้ยกระดับเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรของจีนทัดเทียมผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก โดยจีนจะไม่ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนในโครงการโรงถลุงเหล็ก แต่Sino-HITจะเป็นผู้จัดหาเครื่องจักรและสินเชื่อแบบซินดิเคทโลนในวงเงินใกล้เคียงกับค่าเครื่องจักร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือก2 แนวทางการปล่อยสินเชื่อ คือ ธนาคารพาณิชย์จีนปล่อยกู้ทั้งหมด หรือธนาคารพาณิชย์จีน ร่วมปล่อยกู้กับไชน่า เอ็กซิมแบงก์ และเครดิต อินชัวรัน โดยจะเลือกแนวทางที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำสุด คาดว่าจะสรุปได้ภายในไตรมาส 3นี้เช่นเดียวกับการลงนามสัญญาซื้อขายแร่เหล็ก "

นายวิน กล่าวว่า การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนบีโอไอในโครงการโรงถลุงเหล็กฯครั้งใหม่นี้ จะยื่นเฉพาะเฟสแรก 5 ล้านตัน เงินลงทุนรวม 9 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยยื่นขอส่งเสริมทั้งโครงการ 33 ล้านตัน โดยบีโอไออนุมัติให้ส่งเสริมเฉพาะเฟสแรก ส่วนเฟส 2-5 อนุมัติในหลักการ ซึ่งการขอรับบีโอไอโครงการนี้จะต่างจาก 4 โครงการผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกที่แสดงความสนใจลงทุนโครงการโรงถลุงเหล็ก เพราะทั้ง 4 โครงการยังไม่ได้ไปถึงขั้นการลงทุน อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันภาครัฐโดยเรื่องยังอยู่ที่สภาพัฒน์ ยังไม่มีข้อสรุปออกมา ขณะที่โครงการโรงถลุงในเครือสหวิริยามีความชัดเจนทั้งที่ตั้งโรงงาน และตลาดรองรับสินค้า

"โครงการโรงถลุงเหล็กดังกล่าวนี้เลื่อนมานานถึง 1ปีครึ่ง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท ขณะที่บริษัทฯก็มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากเงินลงทุนค่าที่ดินและค่าอบรมพนักงานไปส่วนหนึ่ง ทั้งนี้บริษัทฯมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ หลังจากได้ทำความเข้าใจให้กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการนี้ "

โครงการโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจรขนาด 33 ล้านตัน จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนด้านเครื่องจักรประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภค ท่าเทียบเรือ ที่ดิน การอบรบบุคลากร โดยเฟสแรก จะดำเนินการผลิต 5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุนรวม 9 หมื่นล้านบาท โครงการนี้จะมีอัตราหนี้สินต่อทุน 2:1 เท่า จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้ ทำให้มูลค่าเงินลงทุนโครงการนี้ลดลง โดยก่อหน้านี้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 39 บาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาท ซึ่งขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขเงินลงทุนที่แน่นอนได้เมื่อยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

สำหรับแร่เหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้น บริษัทจะเซ็นบันทึกช่วยจำ(เอ็มโอยู) กับเหมืองผู้ผู้ผลิตแร่เหล็กรายใหญ่ของโลก 3 รายทั้งบราซิลและออสเตรเลีย ซึ่งรายละเอียดของสัญญาได้จัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ผลิตแร่เหล็กพร้อมที่จะสนับสนุนด้านปริมาณที่ต้องการใช้โดยเฟสแรกใช้แร่เหล็กจำนวน 8 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้าจากออสเตรเลีย 70% ที่เหลือนำเข้าจากบราซิล ซึ่งโครงการนี้ได้เปรียบด้านค่าขนส่งเมื่อเทียบโรงงานผลิตเหล็กในภูมิภาคนี้ เมื่อโครงการโรงถลุงเหล็กเฟสแรกแล้วเสร็จ จะลดต้นทุนได้ถึง 35% ของมูลค่าการนำเข้า 4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้เครือสหวิริยา มีแผนนำบริษัท โรงถลุงเหล็กสหวิริยา เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 5ปีข้างหน้าด้วย

ทั้งนี้ บริษัทฯมีนโยบายที่จะลงทุนโครงการโรงถลุงเหล็กเพียงรายเดียว โดยไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตร ส่วนโครงการเหล็กปลายน้ำนั้นจะมีการดึงพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุน เนื่องจากต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลาย โดยกำลังการผลิตโรงถลุงเหล็กเฟสแรก 5 ล้านตันจะป้อนให้โรงเหล็กในเครือสหวิริยา ฯที่มีกำลังการผลิตอยู่ 7.6 ล้านตัน หลังจากมีการลงทุนเฟส 2 จึงจะมีการขยายกำลังการผลิตเหล็กขั้นปลายน้ำต่อไป

เหล็กครึ่งปีหลังนี้ราคาแกว่งตัว

นายวิน กล่าวทิศทางราคาเหล็กในครึ่งปีหลังว่า ราคาเหล็กได้ปรับตัวขึ้นมาเท่าตัวในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากไทยไม่มีโรงถลุงเหล็กเอง เชื่อว่าครึ่งปีหลังราคาไม่น่าจะปรับขึ้นรุนแรง แต่อาจจะมีการแกว่งตัวขึ้นลงเล็กน้อย โดยทิศทางราคายังทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากต้นทุนแร่เหล็ก เศษเหล็กที่ปรับขึ้นสอดคล้องตามราคาน้ำมัน โดยปัจจุบันเพดานราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่กก.ละ 37.50 บาท และเหล็กเส้น 40 บาท/กก. ขณะที่ราคาสแลปตันละ 1 พันกว่าเหรียญสหรัฐ และเศษเหล็ก 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ผลการดำเนินงานของบมจ.สหวิริยาสตีล อินดัสตรีในปี 2551 บริษัทฯตั้งเป้ายอดขายไว้ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขายเกือบ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้บริษัทเดินเครื่องจักรผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้น 20%มาอยู่ที่ 2 ล้านตัน คิดเป็น 50%กำลังการผลิตรวม โดยปีนี้ความต้องการใช้เหล็กทุกชนิดจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนมาอยู่ที่ 13 ล้านตัน/ปี ทำให้บริษัทฯลดการส่งออกลงเหลือไม่เกิน 10% ของกำลังการผลิต
กำลังโหลดความคิดเห็น