xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่องรับมือปัญหาเงินเฟ้อ ลงทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ควบคู่กองทุนต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศได้รับผลกระทบไปตามๆกัน ในส่วนของประเทศไทยเอง อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.3-5.4% ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งปัจจัยหลัหมาจากราคานํ้ามัน ราคาข้าว รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคประเภทอื่นๆ ที่ขยับสูงขึ้น และกำลังจะขยับขึ้น

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวได้ส่งผลต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึง มนุษย์เงินเดือนทั่วไป ต้องปรับตัวอย่างมากกับภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่นักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แต่อาจจะได้รับผลกระทบในด้านที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นประชาชน มนุษย์เงินเดือนรวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆจะปรับตัวหรือลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ไปฟังมุมมองของบรรดาผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ว่ามีมุมมองและทางออกอย่างไรกันบ้าง

อัจฉรา สุทธิศิริกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นครหลวงไทย จำกัด กล่าวถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวไม่ใช่เเค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหา เเต่ขณะนี้ทั่วโลกก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะจีน เเละเวียดนาม ซึ่งหากเทียบกับ 2 ประเทศเเล้ว ถือได้ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องของภาวะเงินเฟ้อน้อยกว่า เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในช่วงโตมาก ที่สำคัญตอนนี้ค่าเงินบาทของไทยอยู่ในช่วงเงินบาทเเข็งค่า ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่ปรับตัวสูงมากเกินไป เพราะถ้าเงินบาทอ่อนค่ากว่านี้ราคาจะสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน ในขณะที่ การปรับขึ้นเงินเดือนของมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ก็มีการคำนวณเรื่องเงินเฟ้ออยู่เเล้ว เนื่องจากการเเข่งขันในเเง่ของตลาดเเรงงานมีค่อนข้างสูง การปรับขึ้นเงินเดือนก็เป็นส่วนหนึ่งในที่จูงใจให้พนักงานอยากที่จะร่วมงานกับกิจการนั้นๆ

"คาดว่า เงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้นอีกเเน่นอน ถ้าเทียบกับการประกาศของธนาคารเเหง่ประเทศไทยเงินเฟ้อภายในปีนี้ จะเเตะอยู่ที่ 4-5% เเต่ถ้าในชีวิตจริงที่เราเจอน่าจะ10-20% ดูได้จากราคาอาหารเเละสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นนั่นเอง"อัจฉรากล่าว

สำหรับคำเเนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากลงทุนในภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้ คงต้องบอกว่า อยากให้ผู้ที่คิดจะลงทุนกระจายความเสี่ยงในการลงทุน นอกเหนือจากการฝากเงินกับธนาคารหรือการลงทุนในตราสารหนี้เท่านั้น ที่สำคัญอยากให้ผู้ลงทุน หันเข้ามาลงทุนในระยะยาว อาทิ 3-5 ปี สำหรับกองทุนที่น่าลงทุนในภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ เงินที่ได้จะมาจากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีภาวะเงินเฟ้อการปรับราคาค่าเช่าก็มีตามมาเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในเเบบที่ 2 คือ การลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศหรือ FIF ซึ่งผู้ลงทุนต้องดูว่าอยากจะไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด เช่น การลงทุนในกลุ่มหุ้น ก็ต้องเลือกประเทศที่มีความน่าเชื่อถือเเละมีความผันผวนน้อยที่สุด ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศก็ต้องระวังเรื่องการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (เฮจด์) เพราะถ้าค่าเงินบาทเเข็งค่าก็อาจทำให้ขาดทุนได้ ในทางกลับกันถ้าค้าเงินบาทอ่อนค่าลงเราก็จะได้กำไรนั่นเอง

ณัชพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านวิจัยเเละบริหารความเสี่ยง บลจ.บีที ให้มุมมองว่า ภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยยังคงสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน เเต่ถ้าในไตรมาสที่ 3 เเละไตรมาสที่ 4 ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงหรือราคายังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ เงินเฟ้อในไตรมาสดังกล่าวก็จะไม่เพิ่มมากขึ้น เเละโอกาสที่ทรงตัวก็จะมีมากขึ้น ส่วนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีส่วนทำให้ภาวะเงินเฟ้อขยับตัวเช่นกัน

"ภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้จะส่งผลดีกับมนุษย์เงินเดือนหรือไม่ อาจอธิบายได้คราวๆ ดังนี้ คือ เมื่อรายรับเท่าเดิมเเต่รายจ่ายมากขึ้นก็ทำให้รายรับนั้นไม่พอรายจ่าย ซึ่งบริษัทก็จะมีการปรับอัตราเงินเดือนของเหล่าพนักงานในบริษัท เเต่ว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนอาจจะล่าช้าออกไปก็ได้" ณัชพัชร์กล่าว

สำหรับการลงทุนในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อสูงเช่นนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ไม่ควรที่จะลงทุนในระยะยาว ส่วนตราสารทุนก็ควรที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มการบริโภคในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร เนื่องจากช่วงนี้ราคาสินค้าเหล่านี้ยังมีจำนวนจำกัดเเต่ความต้องการมีมาก ทำให้ราคาค่อนข้างสูง หรือการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศก็ควรลงทุนตั้งระยะนี้ (ไตรมาส2)ไป เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าดอลลาร์สหรัฐในระยะนี้อ่อนตัว เเต่ถ้าเข้าไตรมาสที่ 3 เเละ 4 อาจเเข็งค่าขึ้น ทำให้ได้กำไรในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐเเข็งค่านั่นเอง นอกจากนี้การที่จะลงทุนอะไรก็ควรมีสภาพคล่องไว้ให้มากที่สุด เพื่อมีตัวเลือกในการลงทุนมากขึ้น

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากราคานํ้ามันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนปรับเพิ่มขึ้นพอดีกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ประชาชนมีเงินออมที่น้อยลงและยังส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยปรับตัวลำบากในช่วงที่สิ้นค้าหลายชนิดมีราคาสูงขึ้น

ดังนั้น ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือมนุษย์เงินเดือนควรมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมนุษย์เงินเดือนนั้นอาจจะหันมาบริโภคอาหารที่มีราคาถูกลงบ้างในบางครั้ง เช่น มาม่า หรือข้าวแกงที่มีขายอยู่ตามข้างถนนต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดค่าครองชีพลงไป รวมถึงในส่วนของประชาชนที่ใช้รถยนต์ในการเดินทางหรือประกอบอาชีพ อาจจะนำรถยนต์ไปติดตั้งถังก๊าซเพื่อเป็นการลดการใช้นํ้ามันลงไป

ส่วนในเรื่องของ การลงทุนของนักลงทุนนั้น"ธนวรรธน์" กล่าวว่า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังมีสัญญาณในการฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ ทำให้การลงทุนประเภทซื้อมาแล้วขายไป ไม่เหมาะที่จะลงทุนในช่วงเวลานี้ เพราะเศรษฐกิจโลกยังส่งผลกระทบอยู่ แต่การลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นอยู่ในขณะนี้ จะส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงได้ในอนาคต รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวกับ การก่อสร้างของภาครัฐ การเกษตร ที่จะส่งผลดีต่อผู้ลงทุนในระยะยาวเช่นกัน

"เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ อาจส่งผลกระทบในแง่ของผลกำไรในการประกอบธุรกิจเพราะเศรษฐกิจของไทยกำลังฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังสูงขึ้นไม่มากถึงตัวเลข 2 หลัก อาจจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจบ้างเล็กน้อย"ธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2551 จะมีค่ากลางอยู่ที่ 4.80% จาก 2.30% ในปีก่อน โดยการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 3% และ 5.60% ตามลำดับ จากที่ขยายตัว 1.40% ในปีก่อน ซึ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นเป็น 1.90% ของจีดีพี จาก 1.50% ของจีดีพีในปีก่อน

ส่วนเศรษฐกิจประเทศไทยในไตรมาสที่ 1/2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.50-5.70% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4/2550 ที่ขยายตัว 5.70% โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ สำหรับในระยะที่เหลือของปี คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญคือการเติบโตของรายได้ในภาคเกษตรและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ขณะที่ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองในระยะข้างหน้า อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งอาจจะกระทบความต่อเนื่องเชิงนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากปัจจัยลบหลายประการนี้ ประกอบกับผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำของปีก่อน คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสถัดๆไปขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

นอกจากนี้ ในกรณีพื้นฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวโดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.90% ใกล้เคียงกับ 4.80% ในปี 2550 โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (เทียบกับ 72.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีก่อน)

สำหรับการส่งออกคาดว่าชะลอตัวลงมามีอัตราการขยายตัว 12.50% จาก 18.10% ในปีก่อน โดยการนำเข้าขยายตัว 19.50% เร่งขึ้นจาก 9.60% ในปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงมาที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์ จาก 14.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อน

กำลังโหลดความคิดเห็น