xs
xsm
sm
md
lg

ถก กนง.วันนี้หนุนตรึง ดบ.อ้างลบแล้ว 2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ธาริษา"ย้ำแนวนโยบายการเงินมุ่งสกัดเงินเฟ้อ นักวิชาการเชื่อประชุม กนง.วันนี้ ตรึงดอกเบี้ยที่ 3.25% ยกเว้นถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เผยเงินเฟ้อสูง5% ทำให้ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบแล้ว2 % หากลดดอกเบี้ยอีกกระทบการระดมทุนเมกะโปรเจกต์-การออมของประเทศ ส่วนผู้ประกอบการยังหวัง กนง.หั่นดอกเบี้ย 0.25% ป้องกันทุนนอกทะลัก

กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมในวันนี้ (9 เม.ย.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหอการค้าไทย-ญี่ปุ่น ว่า ช่วงต่อไปจากนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของโลก แต่ไม่มีใครแน่ใจได้ว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เงินเฟ้อของโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นลดต่ำลงได้หรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถคาดเดาราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ในอนาคตข้างหน้าได้ และไม่มั่นใจว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลง

นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงของระบบการเงินโลกในอนาคตจะทำให้ระบบการเงินของเราในอนาคตจะมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่ง ธปท.กำลังติดตามสถานการณ์ และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงิน และเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตามยังคาดเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ในระดับ 4.5-6% และเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในเป้าหมายของ ธปท.0-3.5% ใน 8 ไตรมาสข้างหน้า การประชุม กนง. 9 เม.ย.นี้ อาจปรับประมาณการการขยายตัวและอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง

"ในช่วงต่อไป ความท้าทายของ กนง.น่าจะมาจากแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคา และแนวนโยบายการเงินมีเป้าหมายที่ทำให้แน่ใจว่เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้เต็มศักยภาพ โดย ธปท.ต้องการเห็นอัตราเงินเฟ้อต่ำ และมีเสถียรภาพตลอดเวลา และในขณะนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค และเอื้อต่อการขยายตัวเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ" นางธาริษากล่าว

นักวิชาการคาด กนง.คงดอกเบี้ย

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3.25% เพราะหากดูเหตุผลประกอบไม่ว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 5% ขณะที่อัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้น ปัญหาการเงินตึงตัว สภาพคล่องเริ่มขาดแคลน

"แม้ดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับลด แต่ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็เพิ่มขึ้นเพื่อดึงเงินฝาก ขณะเดียวกันดอกเบี้ยของไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลกก็ไม่อยู่ในเกณฑ์สูง เช่น ออสเตรเลีย ดอกเบี้ยอยู่ที่ ร้อยละ 7-8 เวียดนาม ร้อยละ 12-13 และฮ่องกง ร้อยละ 4-5"

นายสมภพกล่าวว่า หากมีการการลดดอกเบี้ยคงเป็นผลมาจากปัจจัยการเมือง ไม่ใช่ปัจจัยภาวะเศรษฐกิจ โดยยอมรับว่าปัญหาการเมืองมีผลต่อความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ บริหารการเมืองให้มีเสถียรภาพ ซึ่งจากความปั่นป่วนการเมืองขณะนี้ ทำให้การลงทุนของเอกชนที่เดิมคาดว่า จะเป็นตัวแปรหลักช่วยดึงเศรษฐกิจในปีนี้ ได้ชะลอการลงทุนออกไป ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจได้คือ ภาครัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ตามที่ประกาศไว้ หากทำได้จะทำให้การลงทุนเอกชนเกิดขึ้นตามมา ทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งการลงทุนเมกะโปรเจกต์จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากนานเกินกว่า 3 เดือน ภาพความปั่นป่วนทางการเมืองอาจมากกว่าปัจจุบัน

ด้านนายณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงปีนี้ และปีหน้า เชื่อว่าจะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบต่อกลุ่มผู้มีเงินน้อยหรือกลุ่มรากหญ้าอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ถูกจุด ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มรากหญ้าที่มีรายได้ไม่ถึง 6 พันบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลัก ที่มีสัดส่วนสูงถึง60% แต่กลับไปเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มอื่น ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง รัฐบาลควรจะสนับสนุนบริษัทต่างๆให้ตลาดภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานที่สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการอัดฉีดเม็ดเงินพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อประโยชน์ในการปรับขึ้นเงินเดือน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น

เผยดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อติดลบ 2%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก กนง.ควรตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เนื่องจากเงินเฟ้อมีอัตราสูง ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับติดลบแล้ว 2% เพราะตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 5%

"หากลดอัตราดอกเบี้ยอีก จะไม่ส่งเสริมต่อการออม ซึ่งจะทำให้รัฐขาดเงินออมเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ และถ้าหากระดมเงินด้วยการออกพันธบัตร ก็ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จูงใจมากขึ้น" นายธนวรรธน์กล่าวและเชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะทำให้อสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นเพราะการลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งค่าจดจำนอง และค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ จะทำให้ประชาชนตัดสินใจซื้อบ้านมากขึ้น โดยคาดว่าบ้านเดี่ยวจะมีอัตราเติบโตในปีนี้ 5-7% ส่วนคอนโดมิเนียมจะเติบโต 15-20% โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมตามแนวโครงการรถไฟฟ้า

ส.อ.ท.เรียกร้องลดดอกเบี้ย

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กนง.จะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดเงินภายในประเทศ หลังส่วนต่างของไทยและตลาดโลกมีส่วนต่างถึง 1% โดยความเห็นของภาคอุตสาหกรรม ต้องการให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยซึ่งอยู่ที่ 3.25% กับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่อยู่ที่ 2.25% เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้ต่างชาติทราบถึงทิศทางดอกเบี้ยของไทยว่าจะลดลง และจะช่วยลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ เพื่อเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมอยากให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทย-สหรัฐ อยู่ที่ 0.50% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การประชุมครั้งนี้ หาก กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ย คงลดเพียงแค่ 0.25% เนื่องจาก ธปท. เป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นถึง 5% จึงไม่กล้าลดดอกเบี้ยมาก

"ปัญหาเงินเฟ้อไม่น่าจะรุนแรง เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายซื้อสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชั่น สาเหตุเพราะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าว ปรับตัวสูงขึ้นมาก ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่จับจ่ายประจำวันลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมราคาสินค้า แต่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว" นายสันติกล่าวและเสนอให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินฝาก สำหรับบัญชีเงินฝากที่มียอดไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ออมชดเชยการลดดอกเบี้ย
กำลังโหลดความคิดเห็น