บลจ.คาดผลประชุมเฟดใช้ยาแรง ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกไม่ต่ำกว่า 0.75% เหตุเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่กระเตื้อง แม้ใช้มาตราการกระตุ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา พร้อมระบุประเทศไทยอาจโดนแรงกดดันทำให้ต้องปรับลดดอกเบี้ยตามด้วยเช่นกัน ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของแบงก์ชาติในการลดอัตราดอกเบี้ย
นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในช่วงนี้ นักลงทุนยังรอดูทิศทางความชัดเจนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.75-1.00% มาอยู่ที่ระดับ ประมาณ 2.00% เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ ถึงแม้ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีความร่วมมือกับธนาคารกลางสำคัญต่าง ๆ เช่น แคนาดา สวิส เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่คาดว่าอาจจะยังไม่สามารถลดความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐลงได้
“หลังจากการประกาศมาตราการฉุกเฉินของเฟดที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งเป็นอัตราที่เฟดเรียกเก็บจากการปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์โดยตรงจาก 3.50% เหลือ 3.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานดังกล่าวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า ในการประชุมในวันที่ 18 มีนา เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.75% และมีโอกาสมากที่จะลดถึง 1.00% เนื่องจากโดยปกติ อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 0.50%"นางลดาวรรณกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามมาด้วย โดยหาก ธปท. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นที่ ธปท.ให้ความสำคัญโดยเฉพาะหากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า ธปท.จะหาวิธีทางที่ดีที่สุดในการพยายามปรับสมดุลระหว่างการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ด้านนายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ในวันอังคารที่ 18 กันยายนนี้คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย( Fed Funds) ลงมาอีกประมาณ 0.75% หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ผ่านมายังไม่สามารถส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ซึ่งเห็นได้จากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
"เท่าที่ดูแล้วการประชุมของเฟดในครั้งนี้น่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างแน่นอน และน่าจะอยู่ประมาณ 0.75% หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนัก ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคตกต่ำ ไม่ต่างกับยอดขายบ้าน ร่วมถึงราคาบ้านที่ต่ำลงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยการลดอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านน่าจะยังไม่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่าไรนัก"นายกรวุฒิกล่าว
สำหรับแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หลังจากนี้คาดว่าจะถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ยของเฟดพอสมควร หากมองในเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงหากมีการปรับลดอีกในการประชุมครั้งนี้ ทำให้เป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อรักษาส่วนต่างนี้ไม่ให้ห่างจนเกินไป
"หากมองในแง่การรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นไปได้ที่แบงก์ชาติจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้ามาพอสมควรในตลาดตราสารหนี้หลังจากปลดล็อกมาตรการ 30% แต่ในตลาดหุ้นบ้านเรายังไม่เห็น เพราะที่ผ่านตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีการปรับตัวลดลง และบ้านเราเองต่างชาติได้มีการเทขายออกไปพอสมควรเช่นกัน"นายกรวุฒิกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธปท.มีนโยบายชัดเจนอยู่ในแล้วในเรื่องนี้คือ การดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้น โดยเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของธปท. โดยสถานการณ์ราคาน้ำมันกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อภายในประเทศไม่สูงมากนัก ซึ่งนอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจ โดยหากมีการปรับลดจริงน่าจะอยู่ในอัตราไม่เกิน 0.25% ซึ่งน่าเพียงพอแล้ว