xs
xsm
sm
md
lg

คลังชี้จีดีพีโต5.6%เงินเฟ้อพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - คลังขยับเป้าจีดีพีเพิ่มเป็น 5.6% หลังแนวโมเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในทิศทางที่สดใสการใช้จ่ายภาครัฐดึงความเชื่อมั่นภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนตาม ด้านเงินเฟ้อไม่น้อยหน้าพุ่งกระฉูดถึง 4.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.0% เหตุต้นทุนสินค้าในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมัน เชื่อธปท.ถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกให้ลดดอกเบี้ยลง 3.0% ตามเฟดหนีส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐ

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2551 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 4.5-5.0% มาเป็น 5.6% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.0-6.0% โดยการปรับประมาณการณ์จีดีพีในครั้งนี้เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อนและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ตามนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่อุปสงค์ภายนอกประเทศมีแนวโน้มลดลงจากความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเศรษฐกิจปีนี้ เพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 ที่เติบโต 4.8% ต่อปี

ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551คาดว่าจะขยายตัว อยู่ที่ 4.3-4.8% หรือ เฉลี่ยอยู่ที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4% และสูงกว่าปี 2550 ที่อยู่ที่ 2.2% ทั้งนี้เป็นผลมาจากราคาสินค้าในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวอยู่ที่ 1.7-2.2% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 1.9%

ด้านการส่งออกในปี 2551 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 12.5-14.5% หรือเฉลี่ย13.5% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 18.1% ในขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 24-26% หรือเฉลี่ย 25% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 9.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยจะส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลประมาณ 1.4-3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ย 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลหลังจากที่ในปี 2550 เกินดุลอยู่ที่ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกมีการชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม ในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังเชื่อว่าจะเกินดุลได้ประมาณ 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 14.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 6.1% ของจีดีพี

นางพรรณี กล่าวว่า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2551 จะแข็งค่าขึ้นอยู่ที่31.25-31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นกว่าปี 2550 ที่อยู่ที่ 34.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแต่ถือเป็นการแข็งค่าเหมือนกันหมดตามเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง

ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2551 คาดว่าจะอยู่ที่ 90-95 เหรียญต่อบาร์เรล หรือเฉลี่ย ประมาณ 93 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 80-85 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งการประมาณการดังกล่าวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาน้ำมันในปัจจุบันแล้วซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 67.8 เหรียญต่อบาร์เรล

ทั้งนี้กระทรวงการคลังมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศยังมีทิศทางที่จะปรับตัวลดลงได้อีก โดยคาดการณ์ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.25%เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังจะใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ จึงส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของไทยต้องปรับลดลงตาม

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในเดือนก.พ. 2551 ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนภายในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 5.4% สูงขึ้นจากเดือนม.ค. ที่อยู่ที่ 4.3% ก็ตาม ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 16.4% ลดลงจากเดือนม.ค. ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 33.1% ซึ่งลดลงจากเดือนม.ค. ที่อยู่ที่ 14.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนก.พ. ขาดดุล 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการ 30% ไม่ได้มีผลต่อค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นอยู่ในปัจจุบันเนื่องจากปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้แทรกแซงค่าเงินบาทให้อยู่ที่ระดับ 31 บาท ได้ ซึ่งถือว่าแข็งค่าขึ้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศเดียวกันในภูมิภาคแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น