xs
xsm
sm
md
lg

"ทีดีอาร์ไอ" กระตุกหางประชานิยมแบบฉาบฉวย สศค.จี้หนุนลงทุนภาคเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ทีดีอาร์ไอ" เตือนสติรัฐบาล "หมัก" ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหวังแค่ผลแค่ระยะสั้น และใช้พร่ำเพรื่อจนมากเกินไป พร้อมชี้ความเสี่ยง การตั้งงบขาดดุล 2.5% เต็มเพดาน อาจเกิดปัญหาเมือนช่วงวิกฤติครั้งก่อน ขณะที่ สศค.ชี้การลงทุนภาคเอกชนต่ำกว่า 20% ของจีดีพี อาจเกิดภาวะถดถอย พร้อมแนะ กนง.คงดอกเบี้ย

วันนี้(23 มี.ค.) มีรายงานข่าวจากงานสัมมนา “แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภายใต้นโยบายรัฐบาลใหม่” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยวิทยากรที่บรรยายท่านแรก นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการวิจัยเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นนั้น เห็นว่าเป็นการมุ่งเป้าหมายระยะสั้น และใช้มาตรการมากเกินไป แต่รัฐบาลชุดนี้ กลับไม่ได้มุ่งเน้นที่การปรับโครงสร้างระยะยาว

นายสมชัย กล่าวว่า การออกนโยบายประชานิยม เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาจากการใช้นโยบายการคลัง และการใช้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจขณะนี้ยังอยู่ภายใต้งบประมาณปี 2551 หากมีการโยกงบประมาณจากหลายโครงการ รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ขณะที่การจัดทำงบประมาณปี 2552 ซึ่งขาดดุลเต็มเพดาน 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นับว่าเป็นการขาดดุลสูงมากเหมือนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จึงต้องให้ความสำคัญดูแลการบริหารทางการคลังไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

**สศค.ชี้การลงทุนภาคเอกชนต่ำกว่า 20% อันตราย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน แม้รัฐบาลจะกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนระดับรากหญ้า แต่ต้องดูแลการลงทุนภาคเอกชนด้วย เพราะปีที่ผ่านมา การลงทุนดังกล่าวขยายตัวเพียงแค่ 0.5% ดังนั้น ปีนี้รัฐบาลควรขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนเมกะโปรเจกต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวถึง 10% ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่ทำได้ เพราะฐานตัวเลขปีที่แล้วต่ำ

อย่างไรก็ตาม นายเอกนิติ ยอมรับว่า ในช่วงปกติเศรษฐกิจขยายตัวดี การลงทุนควรมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันอยู่ 16-17% ของจีดีพี สัดส่วนระดับที่ต่ำกว่า 20% ถือว่าต่ำเกินไป สำหรับการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจนั้น มองว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันแพง คงไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่จะบริหารจัดการเศรษฐกิจได้ โดยไตรมาสแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อคงไม่ต่ำกว่า 4.5%

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าประเทศ เพราะอาจกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้น นโยบายการเงินและการคลังจะต้องสมดุล พร้อมทั้งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ ทั้งจีน อินเดีย ออสเตรเลีย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ ตลาดหลักสำคัญมีปัญหา สำหรับการจัดงบประมาณในปี 2552 ขาดดุลสูงมากนั้น เป็นเพราะการตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินต้นกว่า 60,000 ล้านบาท และชำระหนี้ดอกเบี้ยกว่า 160,000-70,000 ล้านบาท

**เงินเฟ้อคุมไม่อยู่ แนะตรึงดอกเบี้ย

นายจรินทร์ เจริญศรีวัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า รัฐบาลควรตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม เพราะต้องดูแลผู้มีรายได้จากเงินออม โดยเฉพาะผู้เกษียณอายุ ซึ่งไม่สามารถหารายได้จากแหล่งอื่น รวมถึงประชาชนรายย่อยอื่นที่มีรายได้เล็กน้อย เพราะแม้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยจะต่างกันถึง 1% ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามามากจนกดดันให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป และยังมองว่า ธปท.จะสามารถควบคุมดูแลค่าเงินบาทที่ประมาณ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
กำลังโหลดความคิดเห็น