xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยรูดสวนตลาดเอเชีย การเมืองในปท.กดดันเมินเฟดหั่นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหุ้นไทยผันผวนสวนทางตลาดหุ้นเอเชีย หลังเฟดหั่นดอกเบี้ยลงอีก 0.75% "ธีระชัย" เตือนนักลงทุนไทยอย่าตระหนก เหตุฝรั่งตัดใจขายเพราะถูกบังคับขาย เชื่อเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน ด้าน "ปกรณ์" ชี้ปัญหาเงินเฟ้อสูงกดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่มั่นใจลดเหลือ 1% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่โบรกเกอร์ แจงต้องจับตามปัจจัยการเมืองในประเทศที่จะเข้ามากระทบตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะการพิจารณายุบพรรคร่วมรัฐบาล

ภาวะการลงทุนตลาดหุ้นไทยวานนี้ (19 มี.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนจะเจอแรงขายทำกำไรจนไม่สามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้ สวนทางกับตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับปัจจัยบวกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับตัวลดลง 0.75% ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องคดีใบแดง-ยุบพรรค

โดยดัชนีปิดที่ 807.67 จุด ลดลง 4.65 จุด หรือลดลง 0.57% จุดสูงสุดระหว่างวันที่ 818.89 จุด ต่ำสุด 807.56 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,969.86 จุด ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 228.76 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 98.19 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 326.95 ล้านบาท

เตือนนักลงทุนอย่าตื่นตระหนก
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นทั่วเอเชียยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีแรงเทขายออกมาจากกลุ่มนักลงทุนเก็งกำไร (เฮจฟันด์) ที่เข้ามาลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกแต่ประสบปัญหาขาดทุนจนถูกบังคับขายเงินลงทุน

ขณะเดียวกันผู้ถือหน่วยลงทุนได้มีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่สถานการณ์ต่างๆ จึงทำให้ต้องขายสินทรัพย์ที่ลงทุนในตลาดหุ้นที่มีกำไร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

"ความจริงแล้วกองทุนไม่ได้ต้องการขายหุ้นออกมา แต่ต้องถูกบังคับขายหลังจากที่ต้อง mark to market และต้องนำเงินไปคืนผู้ถือหน่วยที่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนทำให้ต้องขายหุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีกำไร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย การขายในรอบนี้ถือว่าเป็นการขายทั้งน้ำตา" นายธีระชัย กล่าว

สำหรับแนวโน้มการลงทุนนั้น นายธีระชัย กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นจังหวะที่น่าจะเข้าไปลงทุนแม้นักลงทุนต่างชาติจะส่งสัญญาณขายหุ้นออกมาบ้าง แต่นักลงทุนไม่ควรที่จะตื่นตะหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกินไปเนื่องจากการขายที่เกิดขึ้นมีเหตุผลรองรับ

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดทุนโลก สามารถแบ่งผลกระทบออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดทุน ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าน่าจะเริ่มคลี่คลายไป เนื่องจากมีการรับรู้ผลขาดทุนจากเรื่องดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนที่ต้องถูกบังคับขายจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือปัญหาเรื่องการส่งออก แต่จะส่งผลกระทบมากหรือน้อยคงต้องอยู่ที่การปรับตัวของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว

ฟันธงสิ้นปีเฟดลดดบ.เหลือ1%

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "Thailand: Global Slowdown Versus Pro Government" ว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเฟดลง 0.75% เหลือ 2.25% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1% แสดงให้เห็นว่าเฟดยังกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงเฟดต้องการรอผลจากมาตรการที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือเพียง 1%
ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ของเฟด ทำให้ระยะห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเฟดกับอัตราดอกเบี้ยไทยห่างกันมากขึ้น (อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 3.25% ส่วนเฟด 2.25% ต่างกัน 1%) ซึ่งจะส่งผลให้เงินต่างชาติไหลเข้าไทยมากขึ้น และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เชื่อมั่นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวได้

ส่วนราคาน้ำมันซึ่งปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายฝ่ายยังคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรลนั้น มองว่าจากการที่แหล่งน้ำมันของผู้ผลิตรายใหญ่กำลังจะหมดลงในอีก 15 ปีข้างหน้า ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ทำให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันต้องการรักษารายได้ให้เท่าเดิม ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาแรงๆ คงเป็นไปได้ยาก และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูงต่อไป

"จากกรณีที่ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ทำให้แบงก์ชาติต้องโฟกัสอยู่ที่การรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป แต่พรบ.การเงินฉบับใหม่ที่กำหนดให้แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อในทุกๆ ปี อาจจะทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาคือ แบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังร่วมกันกำหนดอัตราที่เหมาะสมขึ้นมา เช่น 2.5% โดยจะบวกหรือลบเท่าไหร่ก็กำหนดกรอบไว้ และปล่อยให้แบงก์ชาติเป็นผู้ดูแล รวมถึงยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศใช้กัน"

ตลาดหุ้นไทยปีนี้ผันผวน

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า นักลงทุนอยากเห็นรัฐบาลให้อิสระในการทำงานแก่ธปท. ในการดำเนินงานนโยบายการเงิน เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ค่อนข้างมากและยังมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้น

"ผมเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล เพราะปัจจุบันไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกในปีนี้คงชะลอตัวลง ดังนั้นการจะรักษาอัตราการเจริญเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมาย ต้องมีสิ่งที่ทดแทน คือ การลงทุน และการบริโภค ซึ่งรัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการลงทุน ในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับมาทดแทนการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวในปีนี้ โดยรัฐบาลควรประกาศให้ชัดเจนว่ากรอบระยะเวลาการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และจะกลับมาจัดทำงบฯ แบบสมดุลภายในกี่ปี"

สำหรับทิศทางตลาดทุนไทยปีนี้ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นผันผวนค่อนข้างมาก แต่โดยรวมจะดีขึ้น จากการสนับสนุนของภาครัฐ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะทำให้เงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่จะได้รับประโยชน์ไปด้วย บวกกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

คาดธปท.ลดอาร์พีตามเฟด

นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับเฟดสูงถึง 1% จะทำให้เงินทุนจากสหรัฐฯ ไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย

"การลดดอกเบี้ยของเฟด 0.75% จะเป็นแรงกดดันในการพิจารณากำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. และคาดว่ากนง. น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 9 เมษายนนี้ แต่คงต้องติดตามดูในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแค่ไหน"

ด้านสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศเริ่มมีความมั่นใจหลังเฟดมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงิน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจในการลงทุน จากค่า P/E ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงสวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยด้านการเมืองในกรณีที่ศาลจะพิจารณาคำร้องคดีใบแดงของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (20 มี.ค.)

ขณะเดียวกัน ปัจจัยลบเรื่องของการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง 3 พรรค คือ พรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งส่งผลให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ทำให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมากดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 812 จุด

"วานนี้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน โดยเปิดตลาดช่วงเช้าดัชนีปรับตัวอยู่ในแดนบวก แต่ไม่มากนัก ทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมา สวนทางกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นตลาดหุ้นไทย กับอินโดนีเซียเท่านั้น ที่เจอปัญหาเรื่องของการเมืองเข้ามากดดัน" นายโกสินทร์ กล่าว

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ เพราะนักลงทุนจะมีการขายทำกำไรจากการที่ดาวโจนส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้ย บวกกับตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 วัน ซึ่งจะทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมา โดยในระยะสั้นหากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นนักลงทุนควรที่จะมีการขายทำกำไรออกมา หากยังมีมีปัจจัยบวกเข้ามาและธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีส่งสัญญาณที่จะมีการลดดอกเบี้ย โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 801-803 จุด แนวต้านที่ระดับ 815-817 จุด

ลดเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 898 จุด

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า การประกาศลดดอกเบี้ยของเฟดทำให้ตลาดหุ้นต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯลฯ แต่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ก่อนจะติดลบในช่วงปิดตลาดการซื้อขาย เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็ก คิดเป็น 1%ของตลาดหุ้นในแถบเอเชียเท่านั้น

พร้อมกันนี้ บริษัทได้ปรับลดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้เหลือ 898 จุด จากปลายปีที่ผ่านมาตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 1,180 จุด สืบเนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศและปัญหาซับไพรม์ยังคงทวีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

นายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยไม่สามารถผ่านแนวต้นที่ 820 จุดได้ โดยมีแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานออกมากดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นปิดในแดนลบ เพราะตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองที่ยังไม่ความชัดเจน และมีเรื่องที่รอผลคำตัดสินอีกหลายเรื่อง เช่น การตัดสินคดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นต้น รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยได้รับปัจจัยบวกจากเงินทุนต่างประเทศที่อาจมีการโยกย้ายหลังส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯกับอัตราดอกเบี้ยไทยเพิ่มมากขึ้น ประเมินแนวต้านที่ 815 จุด และแนวรับที่ 800 จุด จึงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมเมื่อดัชนีอ่อนตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น