ประธานฯ ส.อ.ท.เรียกร้อง กนง.ลดส่วนต่างดอกเบี้ยตลาดโลก 1% แก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า ชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ ม.หอการค้าฯ ชี้อัตรา ดบ.แท้จริงติดลบ ขณะที่ผู้บริหารฯ ธปท.ยอมรับปัญหาเงินเฟ้อ 5% ยังค้ำคอ ในการพิจารณา 9 เม.ย.นี้ พร้อมส่งสัญญาณคง ดบ.นโยบาย 3.25%
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) ซึ่งจะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดเงินภายในประเทศ หลังส่วนต่างของไทยและตลาดโลกมีส่วนต่างถึง 1%
"ความเห็นของภาคอุตสาหกรรม พวกเราต้องการให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยซึ่งอยู่ที่ 3.25% กับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่อยู่ที่ 2.25% หรือคิดเป็นส่วนต่างประมาณ 1% เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้ต่างชาติทราบถึงทิศทางดอกเบี้ยของไทยว่าจะลดลง และจะช่วยลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ เพื่อเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น"
นายสันติ ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมอยากให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทย-สหรัฐ อยู่ที่ 0.50% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การประชุมครั้งนี้ หาก กนง.ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย คงลดเพียงแค่ 0.25% เนื่องจาก ธปท. เป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นถึง 5% จึงไม่กล้าลดอัตราดอกเบี้ยมาก
"ความเห็นส่วนตัว ผมมองว่า ปัญหาเงินเฟ้อไม่น่าจะรุนแรง เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายซื้อสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชั่น สาเหตุเพราะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าว ปรับตัวสูงขึ้นมาก ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่จับจ่ายประจำวันลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมราคาสินค้า แต่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว"
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหาก กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่อประชาชนที่มีเงินฝาก จึงเสนอให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินฝาก สำหรับบัญชีเงินฝากที่มียอดไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ออม
**ม.หอการค้าฯ ยอมรับ ดบ.แท้จริงติดลบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลับมีความเห็นว่ากนง.มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% เนื่องจาก ธปท. ห่วงอัตราเงินเฟ้อซึ่งเร่งตัวขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.สามารถดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป จึงเชื่อว่า กนง.คงไม่จำเป็นต้องตามทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงขณะนี้ติดลบ ซึ่งขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการระดมทุนจากในประเทศมาใช้ในการสร้างโครงการรถไฟฟ้า ดังนั้น แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศน่าจะสูงกว่านี้
ด้านแหล่งข่าวจาก ธปท. เชื่อว่า มีแนวโน้มสูงที่ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ย เพื่อรอให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับลดดอกเบี้ยให้ต่ำสุดก่อน แล้วค่อยทยอยปรับขึ้นตาม เมื่อสถานการณ์ความผันผวนในตลาดการเงินโลกเริ่มนิ่ง โดยถือว่าเรายังไม่เสียโอกาส นอกจากนี้ความเป็นไปได้ที่ กนง.จะรอให้เงินเฟ้อในระบบลดลง สะท้อนความเป็นจริงก่อน กนง.ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ ประชุมครั้งต่อไปอีกในวันที่ 22 เม.ย.นี้
แหล่งข่าว ยังระบุถึงสาเหตุที่ กนง.ยังคงดอกเบี้ยที่ 3.25% ได้นั้น เพราะดอกเบี้ยนโยบายของไทย ยังต่ำกว่าภูมิภาค ทั้งเวียดนามที่ดอกเบี้ย 8.75% อินโดนีเซีย 8.0% จีน 7.47% อินเดีย 6.0% เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ 5% มาเลเซียและไต้หวันอยู่ที่ระดับ 3.50% มีเพียงญี่ปุ่นที่ดอกเบี้ยต่ำมาก คือ 0.50%
**ชี้ความเสี่ยงบนทางสองแพร่ง
นอกจากนี้ ธปท.ยังยอมรับว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในปัจจุบัน ถือเป็นอีกยุคหนึ่งที่ยาก เพราะมีข้อจำกัดมากทั้งความเสี่ยงของการเติบโตเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้น ธปท.จะพยายามจะดำเนินนโยบายการเงินไม่ให้มีความผ่อนปรนจนเกิดปัญหาฟองสบู่ เพราะแม้ในบางประเทศเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตดี หรือเงินเฟ้อไม่สูง ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาฟองสบู่ได้ เราจึงจะติดตามดูแลปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิดด้วย
**เงินเฟ้อ 5% ในอัตราเร่ง ยังค้ำคอ
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินผ่านการใช้ดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องเสมอไป เพราะแม้จะใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน หรือแม้ใช้ดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะใช้ดอกเบี้ยเพียงตัวเดียวมาดูแลทั้ง 2 เรื่องนี้ จึงควรนำนโยบายการคลังเข้ามามีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปและ ธปท.เองจะใช้เครื่องมือทางการเงินตัวอื่นหรือมาตรการอื่นๆ ร่วมแทน
สำหรับมุมมองอัตราเงินเฟ้อ ผู้บริหาร ธปท.มองว่า การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 5.3% ในเดือน มี.ค.นี้และในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 5% ก็ไม่ได้หนือความคาดหมายของ กนง.เพราะในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.5-5.0% สำหรับในช่วงไตรมาสแรก อีกกระทรวงพาณิชย์เองก็มีการชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า