xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.เผยแผนแก้ไฟใต้ ‘รบ.หมัก’ ตั้งสตูลเป็นพื้นที่กันชน - สงขลาศูนย์กลางธุรกิจใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เผยยุทธศาสตร์พัฒนาชายแดนใต้คลุม 5 จังหวัด หมักโปรยยาหอมพัฒนาสตูลเป็นพื้นที่กันชนและเฝ้าระวังการลุกลามของเหตุการณ์ไม่สงบ และเป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงสู่ฐานเศรษฐกิจและประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาสงขลาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ และกระจายผลการพัฒนาสู่พื้นที่อื่นใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต.สรุปผลการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและจัดขึ้นที่ห้องประชุมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา โดยนายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรอบแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และข้อเสนอเชิงมาตรการ แผนงาน โครงการ เพื่อสนองตอบนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ของจังหวัดชายแดนภาคใต้

พร้อมกับมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ สศช.เสนอ และมอบให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ศอ.บต. โดย สศช.และสำนักงบประมาณ (สงป.) เป็นที่ปรึกษาในการบูรณาการหน่วยงานเพื่อจัดทำแผนงานโครงการและกรอบงบประมาณดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์จะครอบคลุมพื้นที่ ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาและจะยึดนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ คือการน้อมนำแนวยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในการแก้ปัญหา น้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ผอ.ศอ.บต.ระบุถึงหลักการของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด ว่า จะให้ความสำคัญต่อการบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกระจายผลการพัฒนาสังคมของ 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการพิเศษ เพื่อรักษาฐานการลงทุนเดิมและจูงใจการลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพ

พัฒนาสตูลเป็นพื้นที่กันชนและเฝ้าระวังการลุกลามของเหตุการณ์ไม่สงบ และเป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงสู่ฐานเศรษฐกิจและประเทศเพื่อนบ้าน

พัฒนาสงขลาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ และกระจายผลการพัฒนาสู่พื้นที่อื่นใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

“การกำหนดบทบาทการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดคือ สงขลา-สตูล จะเป็นศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภายในและระหว่างประเทศ ให้สงขลาเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ และศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกีฬา ปัตตานีเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ศูนย์กลางอิสลามศึกษานานาชาติ ยะลา เป็นศูนย์กลางการเกษตรและตลาดสินค้าเกษตร ส่วนนราธิวาส จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านตะวันออกของมาเลเซีย”นายพระนายกล่าวและว่า

ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุความไม่สงบได้รบการช่วยเหลือและพัฒนาให้สามารถพึ่งตนเองได้ กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบได้รับการดูแลป้องกันและมีกระบวนการพัฒนาให้ปลอดจากภาวะเสียงอย่างถาวร คนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความรู้ทักษะการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ที่จะไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว และชุมชน และเกิดความสมานฉันท์ของสังคม พัฒนาเศรษฐกิจให้มีฐานที่เข้มแข็ง มีความสมดุลเป็นธรรม สามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระดับที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนาอาชีพรายได้ และการมีงานทำ สร้างความหวังแก่ประชาชนให้มีความมั่นใจที่จะอยู่ในพื้นที่

นายพระนาย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการข้อเสนอเชิงมาตรการและแผนงานโครงการ เพื่อตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งประมวลจากการเสนอของ กอ.รมน.ภาค 4 หอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการในพื้นที่ โดยมีหลักคิดต้องการยกระดับการพัฒนาในส่วนที่ต่ำให้ทัดเทียมหรือสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นและประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน การพัฒนาที่ดีอยู่แล้วให้ขยายผลให้มากขึ้น การพัฒนาในส่วนที่มีศักยภาพต้องสร้างโอกาสให้มากขึ้น และในส่วนที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่จะต้องรักษาไว้

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา โดยเรื่องใดที่เป็นความต้องการของพื้นที่เสนอมา ขอให้เร่งพิจารณาวินิจฉัย อย่าให้รอนาน ซึ่งจะยึดหลักเกณฑ์ความเท่าเทียมเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้ เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ ที่มีลักษณะพิเศษและอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องคิดใหม่และจัดลำดับความสำคัญไว้ในลำดับต้น ๆ เช่น กรณีเรื่องสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เรื่องการก่อสร้างโรงพยาบาลกรงปินัง อ.กระปินัง จ.ยะลา หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเร่งรัดดำเนินการโดยด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น