xs
xsm
sm
md
lg

"หมัก"ตั้งอุตฯ 3 จชต.ดับไฟใต้ "สนธิลิ้ม" แนะแก้แบบองค์รวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หมัก"นั่งหัวโต๊ะถก กพต.ดับไฟใต้ ประกาศ"วาระแห่งชาติ"แก้ปัญหา สั่งเดินหน้าพัฒนาศก.ในพื้นที่โดยเร็ว ทั้งตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทหารในพื้นที่ 3 จชต. โดยทหารจะเข้าถือหุ้น 51% ภาคเอกชน 49% ขณะที่ "เอกชน" ไม่มั่นใจแนวคิด"หมัก"เรื่องร่วมทุนทหาร "เหลิม"ปูดอีกโว ระดับแกนนำขอเจรจาด้วยออกปากถ้าไม่กล้ากลับมาก็พร้อมจะบินไปรับด้วยตัวเองอีก ทั้งรับประกันความปลอดภัย ด้าน"สนธิ ลิ้มทองกุล" แนะรัฐบาลดับไฟใต้ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม เพิ่มเงินเดือนขรก. ที่ลงไปปฏิบัติในพื้นที่แบบดับเบิ้ล แต่ 10 ปีห้ามโยกย้ายไปไหน

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (21มี.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2551 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ., ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการ ศอ.บต. แม่ทัพภาค 4 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรอง สภาพัฒน์ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดในชายแดนภาคใต้ฯ

นายสมัคร กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการ แผนงาน โครงการ เพื่อแก้ปัญหาตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยให้มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทหารจะเข้าถือหุ้น 51% ภาคเอกชนถือหุ้น 49% คล้ายกับรัฐวิสาหกิจ แต่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาจะเชื่อมโยงไปยังอีก 2 จังหวัดคือ สงขลา และสตูลด้วย เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยยืนยันรัฐบาลจะเร่งพัฒนาโดยเร็ว

ส่วนการแก้ปัญหาในภาพรวม ในฐานะผู้นำรัฐบาลก็รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว แต่ในการปฏิบัติก็เป็นส่วนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ ซึ่งมีทั้งตำรวจ ทหาร และพลเรือน ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่ หลังวันที่ 1 ต.ค50 มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ที่เกิดเหตุระเบิดที่โรงแรมซี.เอส ปัตตานี เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองสนใจ

คาด"หมัก"นำแผนศก.ใต้เข้าครม.หน้า

นายพระนาย เผยหลังการประชุมว่า นายกฯได้ฟังว่า สภาพัฒน์ฯได้จัดทำกรอบการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 5 ปีข้างหน้าว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยได้มีการพูดถึงเรื่องมิติหลายๆ มิติ ซึ่งก็มีความชัดเจนหลายยุทธศาสตร์ ซึ่งนายกฯอาจจะนำเข้า ครม.วันอังคารที่ 25 มี.ค.นี้ ถ้า ครม.เห็นชอบแต่ละกระทรวงก็จะต้องรีบทำรายละเอียดของงบประมาณและกลับมาเสนอ ครม.ให้เร็วที่สุด

ด้าน พล.อ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ตนยังมั่นใจยุทธวิธีเดิม ที่เรายังทำได้ดี โดยเฉพาะยุทธวิธีที่ทหารสามารถอยู่กับประชาชน และประชาชนยังให้ความร่วมมือในด้านการข่าว จะเห็นได้ว่าการทำงานเชิงรุกโดยเฉพาะการปิดล้อมตรวจค้นได้ตลอดเวลา และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง แม้ปัญหาการทำร้ายประชาชน และการวางระเบิดก็เป็นความพยายามของเขา ซึ่งตนจะปรับการทำงานให้มีผล และประสิทธิภาพโดยใช้เรื่องกำลังพล โดยในวันที่ 22 มี.ค.นี้ตนจะลงไปยังพื้นที่อีกครั้ง

"ส่วนแนวคิดโรงงานอุตสาหกรรมทหารที่นายกฯ มอบหมายให้ไปเร่งปฏิบัตินั้นทางสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม จะนำไปดำเนินการโดยเป็นนโยบายที่ให้หน่วยที่มีอยู่แล้วเข้าไปดำเนินการ"

เหลิมลั่นพร้อมรับโจรใต้กลับปท.

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ได้รายงานสถานการณ์หลังจากการลงพื้นที่ภาคใต้ให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพราะการเข้าประชุมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทำให้ทราบปัญหาในหลายๆ ด้าน ส่วนที่ไม่ลงไปถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ใช่ว่ากลัวเสียชีวิต อย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน แต่เพื่อไม่ให้เป็นการท้าทายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ อีกทั้งเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้องมาเฝ้าระวังด้วย ทั้งนี้มั่นใจว่า หากประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มากกว่านี้ สถานการณ์ก็จะดีขึ้น

ส่วนความคืบหน้าของการเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้เป็นความลับของทางราชการ เพราะหากเปิดเผยฝ่ายตรงข้ามก็จะรู้ความลับ ส่วนผลการเจรจาก็คืบหน้าดี แต่ไม่ใช่การเจรจาเปิดโต๊ะ ซึ่งพวกที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ ตนกำลังจะเจรจาให้กลับมามอบตัว ซึ่งตนจะการันตีความปลอดภัย

"ผมยังไม่เปิดเผยจำนวนบุคคลเหล่านี้ แต่หากไม่กล้ากลับมา เฉลิม จะบินไปรับด้วยตัวเอง คุณจะมีโอกาสใกล้ชิดลูกเมียญาติมิตร และจะปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นการติดต่อแบบส่วนตัว อย่าผลักให้เป็นปัญหาสากล ผมรู้ว่ามีใครหนุน และเข้าใจว่าใครเปิดที่ให้เขาฝึก ซึ่งพูดแบบส่วนตัวจะเบาลง"

"เอกชน"ไม่มั่นใจแนวคิด"หมัก"

ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุม กพต.ว่า ภาคเอกชนรู้สึกพอใจกับผลการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะเรื่องที่คั่งค้างอยู่ก็สามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น มีความชัดเจนและมีผู้รับผิดชอบตรงตัว โดย ส.อ.ท.จะนำรายละเอียดทั้งหมดไปแจ้งให้สมาชิกทั่วประเทศรับทราบเพื่อกำหนดท่าทีในการตัดสินใจต่อไป

ส่วนข้อเสนอของนายกฯ เกี่ยวกับการให้เอกชนเข้าร่วมทุนกับทหารเพื่อเข้าไปดำเนินการต่างๆ ในภาคใต้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาคเอกชนคงต้องไปหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการเข้าร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อดำเนินการต่างๆในภาคใต้นั้นหากเป็นในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจหรือส่วนราชการ อาจทำให้เกิดความไม่คล่องตัว

"ปัญหาในภาคใต้นั้นมีทั้งเรื่องที่มาจากความไม่สงบโดยตรงและมาจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมากและปัญหาอินโดนีเซียปิดน่านน้ำ ทำให้การหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานปลาป่นนั้นมีน้อยมาก ซึ่งนายกฯได้รับปากที่จะนำปัญหานี้ไปเจรจากับอินโดนีเซียเพื่อขอให้เปิดน่านน้ำให้กับไทย"

นายสันติ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลที่ปรับลดเหลือ 3% แต่ภาคเอกชนยังต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคลครึ่งปีเต็มจำนวนนั้น ทางกระทรวงการคลังได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่ากรมสรรพากรได้คืนภาษีทั้งหมดให้ผู้ประกอบการแล้ว ขณะเดียวกันทางปลัดกระทรวงการคลังได้เสนอให้ภาคเอกชนไปรวมตัวกันจัดทำประกันภัยแบบรวมกลุ่มเพื่อลดค่าใช้จ่ายแทน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อเสนอที่ดีเช่นกันแต่ต้องไปหารือให้ชัดเจนก่อนว่าจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด

มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้

ข่าวแจ้งว่าในที่ประชุมได้สรุปผลการประชุมและแจกเป็นเอกสารให้ผู้สื่อข่าว โดยระบุว่าในที่ประชุมมีการรายงาน ประเมิน วิเคราะห์ สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยนายกฯได้มอบนโยบายพร้อมแนวทางปฏิบัติและข้อสั่งการเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลายประการ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตามที่สภาพัฒฯ เสนอ โดยให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อรักษารากฐานการลงทุนเดิมและจูงใจการลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพ

โดยจะพัฒนาสตูล เป็นพื้นที่กันชนและเฝ้าระวังการลุกลามของเหตุการณ์ความไม่สงบ และเป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงสู่ฐานเศรษฐกิจหลัก และประเทศเพื่อนบ้าน และให้พัฒนาสงขลา เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ และส่งทอดความเจริญและผลการพัฒนาสู่พื้นที่อื่นใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดบทบาทของแต่ละจังหวัดตามศักยภาพพื้นฐานและโอกาสของการพัฒนาพื้นที่ในส่วนของการกำหนดบทบาทแต่ละจังหวัดนั้นมีข้อสรุป ดังนี้ ให้ จ.สงขลา และสตูล เป็นศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภายในและระหว่างประเทศ ให้ จ.สงขลา เป็นศูนย์กลางยางพาราโลก ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกีฬาในระดับสากล จ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ศูนย์กลางอิสลามศึกษานานาชาติ จ.ยะลา เป็นศูนย์กลางการเกษตร และตลาดสินค้าเกษตร และ จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย

เผยโฉม5ยุทธศาสตร์พัฒนาใต้

สำหรับกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

1.การคุ้มครองความปลอดภัย การอำนวยความเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐและสร้างภูมิคุ้มกันแก่กลุ่มเสี่ยง โดยเน้นหนักการบูรณาการแผนงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมกับแผนการรักษาความปลอดภัย การพัฒนาประสิทธิภาพ งานยุติธรรมตามหลักนิติธรรม การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ การปรับความคิด ความเชื่อกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ และการป้องกันการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด

2.การแก้ปัญหาความยากจน และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ในการพึ่งพาตนเอง โดยเน้นหนักการพัฒนาความมั่นคงในอาชีพ รายได้และความมั่นคงในการดำรงชีวิตของกลุ่มเป้าหมายยากจน และผู้ได้รับผลกระทบ การสนับสนุนกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง การฟื้นฟูและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.การพัฒนาคุณภาพคนเพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเน้นหนัก การปฏิรูปการศึกษาเชิงบูรณาการกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนโดยเฉพาะสตรี เยาวชน การพัฒนาด้านทักษะฝีมือแรงงานและการจัดหาตลาดรองรับ

4.การเสริมสร้างความเข้มแข็งฐานเศรษฐกิจของพื้นที่และการพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ มีแนวทางหลักในการขยายฐานการผลิตด้านการเกษตรให้หลากหลาย เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการแปรรูปและการตลาด โดยเน้นหนักการพัฒนาผลไม้ พัฒนายางพาราครบวงจร พัฒนา จ.ปัตตานีเป็นฐานการผลิตอาหารฮาลาล และแหล่งผลิตพลังงานจากลม พัฒนา จ.นราธิวาส เป็นแหล่งผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาประมงเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ พัฒนาปศุสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและการบริการ การพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (TMT-GT) โดยการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจสงขลา-ปีนัง-เมดาน การสร้างโอกาสใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยการเปิดประตูทางทะเลสู่นานาชาติผ่านสะพานเศรษฐกิจ สตูล-สงขลา รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีกับต่างประเทศ

5.การบริหารจัดการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยเน้นหนักการปรับปรุงและการจัดทำกฎระเบียบเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการบูรณาการ แผนงาน โครงการ งบประมาณให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการมอบหมายให้ ศอ.บต.เข้าไปดำเนินการให้เป็นตามกรอบยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการ แผนงาน โครงการ เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลหลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ให้จัดสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การกำหนดมาตรการด้านภาษี และการแก้ไขสภาพคล่องของภาคเอกชน เพื่อรักษานักลงทุนในพื้นที่ให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ และสนับสนุนให้เอกชนรายใหญ่จากนอกพื้นที่มาลงทุนเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เป็นต้น

"สนธิ"แนะดับไฟใต้ต้องเลิกโม้

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้โทรศัพท์แสดงความคิดเห็นในรายการ "คนในข่าว" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี คืนวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มีนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตนเป็นคนแรกๆที่เสนอให้มีการแก้ปัญหาในลักษณะที่เป็นองค์รวม โดยเฉพาะแนวความคิดที่เสนอให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างหนักและต่อเนื่อง

นายสนธิ กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแก้ไขปัญหาด้วยองค์รวม แต่ยังไม่รัฐบาลใดที่จริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม มีแต่ปากกล้าขาสั่น โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ยิ่งยิ่งหนัก พยามยามสร้างภาพลวงตา โดยการนำเอา ส.ส.อีสาน หลายคนลงไปในพื้นที่ เป็นการสร้างภาพโดยแท้ ของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ

นายสนธิ ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้วยการยกเลิกการเสียภาษี ให้กับนักธุรกิจ และผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คนเหล่านั้นมีกำลังใจที่อยู่สู้ต่อไป อีกทั้งยังเป็นแรงดึงดูดให้นักธุรกิจจากนอกพื้นที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

ขณะเดียวกัน การโยกย้ายข้าราชการลงไปปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลต้องเพิ่มแรงจูงใจโดยการเพิ่มเงินเดือนแบบดับเบิล แต่ต้องมีข้อแม้ คือ10 ปี ห้ามโยกย้ายกลับ ไม่ใช่ไปเอาแค่ตำแหน่งเพียงปี หรือสองปีแล้วขอกลับ

นอกจากนี้รัฐบาลก็อย่ามัวมาถมน้ำลายรดฟ้า คุยโวโอ้อวด ไม่มีใครลงไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที และการที่ ร.ต.อ.เฉลิม โยนปัญหาให้ทหารรับผิดชอบ ก็ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง จะโยนความรับผิดชอบไปให้ทหารเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น