ศูนย์ข่าวหาดใหญ่รายงาน...
ก่อนหน้าที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน ได้เคยประกาศว่า จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการตั้งคณะทำงานฝ่ายความมั่นคง มีนายทหารผู้มีประสบการณ์ เช่น พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมทีมงานโดยจะเน้นให้ทุกพรรคการเมืองมีการระดมความคิด เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ถือเป็นวาระแห่งชาติ
ในขณะที่พรรคชาติไทย มี 4 นโยบายหลัก คือ 1.ตั้งศูนย์อุทธรณ์ฉุกเฉิน (Emergency appall system) สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสามารถร้องเรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง
2.จัดตั้งศูนย์บริหารราชการครบวงจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (One stop Government) คล้ายกับตั้งรัฐบาลส่วนหน้าขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจได้ทันที ไม่ต้องรอส่วนกลางพิจารณา นอกจากนี้มีหน่วยงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ตั้งอยู่ในศูนย์ดังกล่าว สามารถบริการและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ทันที เช่น การขอทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น
3.ส่งเสริมแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปโลกมุสลิม โดยจะพัฒนามือแรงงานตามความต้องการของตลาดโลกมุสลิม รวมทั้งเจรจากับรัฐบาลโลกมุสลิมให้รองรับแรงงานเหล่านั้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4.การบูรณาการทางด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยจะวางกรอบในการดำเนินการให้ทั้งสามอย่างดังกล่าวแยกออกจากกันไม่ได้ ยกตัวอย่าง ประกาศให้โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดวันศุกร์และวันเสาร์ เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมละหมาดวันศุกร์ในชุมชน เปิดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาเต็มรูปแบบในโรงเรียนของรัฐ จัดตั้งงบจัดกิจกรรมประจำมัสยิด เป็นต้น
ด้านพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา มีนโยบายศาสนานำการเมือง ดึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบให้กลับใจ เสนอให้ยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เพราะเห็นว่ายังมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น โดยดำเนินนโยบายตามกรอบหลักการของอิสลาม
ขณะที่พรรคเพื่อแผ่นดิน เสนอ 43 แนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ตั้งหน่วยพิทักษ์หมู่บ้าน ให้ชุมชนคัดเลือกตัวแทนชาวบ้านชุมชนละ 30 คนทำหน้าที่ดูแลกันเอง โดยมีกองทัพเป็นฝ่ายเสริม มิใช่กำลังหลักเหมือนปัจจุบัน สนับสนุนการจ้างงานบัณฑิตโลกอาหรับ สนับสนุนให้ จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางในการประสานสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบพิธีฮัจญ์ ตั้งศูนย์พาสปอร์ตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน สนับสนุนมหาวิทยาลัยปัตตานีเป็นเอกเทศ
ให้ จ.นราธิวาส เป็นที่ศึกษาด้านแพทย์ จ.ยะลา เป็นสถานผลผลิตครูศึกษา สนับสนุนอัตราจ้างอิสลามศึกษา ตั้งศูนย์ผดุงความยุติธรรม ศูนย์คัดแยกตำบล ศูนย์บำบัดยาเสพย์ติด และสนับสนุนให้มีรัฐมนตรีเขตพิเศษ ซึ่งทั้งหมดเน้นคนในพื้นที่แก้ปัญหากันเองโดยที่รัฐบาลคอยสนับสนุนโครงการ
พรรคการเมืองที่ถูกระบุชื่อมาข้างต้นล้วนเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีพรรคพลังประชาชน เป็นแกนนำหลัก มีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคฯเป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลประชาชนจำนวนมากคาดหวังให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายที่ให้ไว้ตั้งแต่ครั้งหาเสียง แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะแก้ปัญหาด้วยแนวคิดจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ จนถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากเกรงว่าดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกแบ่งแยก ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ รวมทั้งนายสมัคร สุนทรเวช ผู้นำรัฐบาล กลับไม่มีนโยบายที่ชัดเจนใดๆ ออกมา
ภายหลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์ขึ้นที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี และในตัวเมืองยะลา เมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา และอีกหลายเหตุการณ์นับตั้งแต่เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานีจนถึวานนี้ (18 มี.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการนำปัญหาการก่อความไม่สงบเข้าหารือในที่ประชุมจนในที่สุด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ก็ออกมาให้สัมภาษณ์หน้าตาเฉยว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องยกให้ทางกองทัพเป็นผู้จัดการ
“เรียนตรงๆ ไม่อับอาย สถานการณ์ภาคใต้เกินกำลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เกินกำลังของกระทรวงมหาดไทยที่จะเข้าไปแก้ไขเพียงลำพัง” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว และว่า
“ปัญหาภาคใต้หากเป็นธุรกิจการค้าก็ขาดทุนมาโดยตลอด ทำไมไม่เปลี่ยนแนวคิดแนวทางที่จะทำ แต่พอใครคิดก็ถูกคัดค้านและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างยับเยิน วันนี้ต้องยกให้เป็นเครดิตของฝ่ายกองทัพให้เขารับผิดชอบทั้งหมด”
ทั้งนี้ ไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดหรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลคนไหนออกมาให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายที่เคยให้ไว้ก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อผลักดันให้รัฐบาลนำไปใช้แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเลยแม้แต่น้อย มีเพียงการสร้างภาพด้วยการส่งหนังสือไปขอความร่วมมือจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหนึ่งเดียว ให้ช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเรื่องก็เงียบไปอีก
“ไม่สบายใจกับการทำงานของรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งยังคงมีสถานการณ์ที่รุนแรงต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลลงพื้นที่โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ที่กำกับดูแลข้าราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่ทั้งหมด” นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์วางตัวให้ดูแลการแก้ปัญหาของรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติด่วนให้มีการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาและทำงานในการแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่กลับถูกดึงเรื่องไว้ โดยเห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการทำให้อดมองไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พร้อมกล่าวเตือนว่าหากรัฐบาลมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปแล้วก็อาจทำให้เหตุร้ายขยายตัวออกไปได้
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหนึ่งเดียวนั้น มีนโยบายด้านความมั่นคง ให้มีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาโดยตรงและเบ็ดเสร็จลงไปประจำการในพื้นที่ มีอำนาจสั่งการทุกหน่วยงาน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติ อันเป็นจุดอ่อนของการแก้ปัญหามาเนิ่นนาน มีการเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีอำนาจเต็มในการจัดการปัญหา โดยทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบการปฏิบัติในพื้นที่จะต้องมาขึ้นตรงต่อองค์กรใหม่แห่งนี้ อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านคงทำอะไรได้ไม่มากนอกจากเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน
นายมิมะนาเซา สามะอารี นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมัวแต่แก้ปัญหาของตัวเองจนลืมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ที่โยนเรื่องนี้ให้เป็นภาระของกองทัพเพียงฝ่ายเดียว สถานการณ์ทุกอย่างก็จะยังคงเหมือนเดิม เนื่องจากนโยบายจากส่วนกลางไม่ชัดเจน
“เมื่อโยนให้กองทัพดูแลหลังจากนี้ก็อาจมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก การแก้ปัญหาก็จะยังเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาก็จะไม่จบ”
นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งปฏิบัติโดยด่วนในขณะนี้เนื่องจากปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง คือการทบทวนมาตรการการแก้ปัญหาต่างๆ เนื่องจากบางเรื่องยังไม่ได้ผล และควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน
“ช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองทุกพรรคชูนโยบายการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้รัฐบาลซึ่งมาจากการร่วมมือกันของพรรคการเมือง 6 พรรค แต่ละพรรคล้วนมีนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่เห็นพรรคไหนในรัฐบาลออกมาผลักดันนโยบายที่เคยประกาศไว้กับประชาชนเลย
โดยเฉพาะพรรคเพื่อแผ่นดินที่มีการทำสัญญาประชาคมไว้กับประชาชน มีการพูดถึงเรื่องความฝันเรื่องพันธกิจ อยากให้นำมาใช้บ้าง กองทัพคงทำอะไรได้ไม่มาก พรรคร่วมรัฐบาลต้องเสนอทางแก้ด้วย และต้องทำโดยด่วน เพราะชาวบ้านรอความหวังจากรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับไม่มีอะไรชัดเจนเลย ทั้งๆ ที่หลายพรรคร่วมรัฐบาลนำประเด็นนี้ไปหาเสียงอย่างต่อเนื่องก่อนได้เป็นรัฐบาล” นายมิมะนาเซ กล่าว
นายปิยะพร มณีรัตน์ ประธานชมรมครูอำเภอยะหา-กาบัง จ.ยะลา กล่าวว่า ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังรอที่จะเห็นผลการทำงานแก้ไขปัญหาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่ากล้าต่อสู้ในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว แต่ภายหลังจากที่ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยออกมาระบุว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และโยนภาระให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ยิ่งห่วงสถานการณ์ เพราะเหมือนขาดนโยบาย การทำงานร่วมกัน ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก็คือคนในพื้นที่ซึ่งเป็นประชาชนคนไทย
“ปัญหาภาคใต้ก็ยังต้องอยู่ในความดูแลและเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่เป็นสิทธิพื้นฐาน ถ้าแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้โดยตรงก็ต้องมีวิธีการอื่นที่ เช่น บูรณาการกับหน่วยงานอื่น มอบนโยบาย เป็นต้น แต่อย่าปล่อยทิ้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นหนูทดลองยาที่มีความบอบช้ำไปเรื่อยๆ”
นายปิยะพร กล่าว้วยว่า สำหรับตนยังเชื่อมั่นและให้เวลา ร.ต.อ.เฉลิม ในการทำงานอยู่ แต่อยากให้มีความจริงใจต่อปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ใช้ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะให้คนอื่นรับผิดชอบแทน และหากยังทำงานในหน้าที่นี้ไม่ได้ ตามธรรมชาติของคนทำงานก็ย่อมต้องมีการพิจารณาตัวเอง ดังเช่นอาชีพครูที่มีหน้าที่สอนหนังสือเด็ก หากวันหนึ่งผู้ปกครองมาร้องเรียนว่าการสอนไม่มีประสิทธิภาพ อ่านหนังสือไม่ออก ครูผู้สอนก็ต้องรับผิดชอบตามหน้าที่และพิจารณาตัวเองต่อไปว่าจะสอนต่อหรือไม่ หรือจะเปิดทางให้ครูคนอื่นเข้ามาแทน
ในขณะที่นายแวดือราแม มะมิงจิ ส.ว.ประเภทสรรหา และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลส่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายการแก้ปัญหาที่ชัดเจนโดยเร่งด่วนเนื่องจากภายหลังการเลือกตั้งยังไม่มีรัฐมนตรีคนใดเดินทางลงพื้นที่ แม้แต่คนเดียว
“จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนสำหรับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคชาติไทย ที่ก่อนหน้านี้มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน แต่ยังไม่มีใครกล้าออกมาผลักดันให้นโยบายการแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หรือนั่นเป็นแค่คำพูดและวิสัยทัศน์ที่สวยหรู เพื่อหวังคะแนนเสียงส่งตัวเองเข้าสภาอันทรงเกียรติเพียงเท่านั้น”