xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.โยนธุรกิจปรับตัวรับเงินเฟ้อ พร้อมหนุนมาตรการช่วยค่าครองชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ระบุเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงจากน้ำมันและอาหารเกิดจากด้านอุปทานของผู้ผลิต แนะผู้ประกอบการควรหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ชี้ภาครัฐควรระมัดระวังในการใช้มาตรการต่างๆ ออกมาบรรเทาค่าครองชีพสูง เพราะอาจส่งผลกระทบทางอ้อมในอนาคตได้ โดยการสร้างอุปสงค์เทียมในระบบเศรษฐกิจ พร้อมหนุน รมว.คลัง ออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ขรก.ชั้นผู้น้อย หวังช่วยลดผลกระทบปัญหาเงินเฟ้อ

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและอาหารที่แพงขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องยากในการแก้ไขปัญหานี้ในช่วงเวลาสั้นๆ ทำได้แค่การบรรเทาผลกระทบเท่านั้น เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อเกิดจากด้านอุปทานของผู้ประกอบการมากกว่าด้านอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศ ฉะนั้นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาระยะยาวคือการพัฒนาหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้อุทานสมดุลกับอุปสงค์

ขณะเดียวกันทุกฝ่ายในระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อนี้ โดยด้านผู้ประกอบการเองก็ต้องช่วยลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนในการพัฒนาระบบขนส่งให้ราคาถูกลงไม่แพงตามราคาน้ำมัน หรือควรพัฒนาการผลิตพลังงานทดแทน ส่วนภาคครัวเรือนหรือประชาชนทั่วไปก็ต้องเน้นการประหยัดพลังงานและจับจ่ายใช้สอยแบบสมเหตุสมผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ สร้างความสมดุลในระบบเศรษฐกิจต่อไป

สำหรับกรณีที่ภาครัฐปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการตั้งแต่ระดับต่ำกว่า ซี 5 ลงมาที่ 6%ของเงินเดือน หรือปรับเพิ่มเงินเดือนอีก 500-700 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบันนั้น ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือของภาครัฐในวิธีนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยผู้มีรายได้ต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการมาช่วยเหลือของภาครัฐก็จำเป็นต้องระมัดระวังผลกระทบทางอ้อมด้วย เพราะหากมีการช่วยเหลือมากเกินไปอาจเป็นการสร้างอุปสงค์เทียมขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งเกิดจากประชาชนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากเกินไปจนสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงตามมาได้

“แม้ขณะนี้เท่าที่ธปท.สำรวจและติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดยังไม่เห็นอุปสงค์เทียมเกิดขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ เพราะมาตรการช่วยเหลือของคลังยังมีการระมัดระวังดีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้กว้างหรือหว่านไปทั่ว แต่เป็นการช่วยเหลือที่เจาะจงเป็นกลุ่มชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำ ดังนั้น แม้มาตรการคลังจะช่วยแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องระมัดระวังถึงอนาคตด้วย”นางอมรา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น