xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านแห่ซื้อรถกระบะ ดันสินเชื่อธุรกิจลีสซิ่งพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง ระบุภาพรวมธุรกิจรับอานิสงส์ทางอ้อมจากมาตรการด้านภาษีของรัฐบาล รวมทั้งภาวะอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และราคาพืชผลการเกษตรที่สูงขึ้น ช่วยขยายยอดสินเชื่อรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยับตัวสูง ชี้กลุ่มลูกค้าระดับกลาง –ล้าง หันมาใช้รถกระบะ และรถตู้เพิ่มขึ้น ดันไตรมาส 1 รายได้โตร่วม 20% ส่วนทั้งปีน่าจะเติบตามเป้าที่วางไว้ อย่างต่ำ 600 ล้านบาท

นายดนุชา วีระพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ECL) เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจลีสซิ่งในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ว่าหลังจากที่ประเทศได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่นี้ ได้ออกหลายมาตรการในกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงมาตรการทางภาษี อีกทั้งจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่อยู่ในระดับนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกื้อหนุนให้ภาพรวมธุรกิจลีสซิ่งในระดับกลาง – ล่างมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อว่า รัฐบาลน่าจะมีนโยบายอื่นออกมาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภาพรวมของธุรกิจในปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก

“หลายๆมาตรการรัฐที่ดำเนินการอยู่ ณ ขณะนี้ ทำให้ธุรกิจลีสซิ่งได้รับอานิสงส์ทางอ้อมไปด้วย เพราะว่าประชาชนได้รับส่วนลดทางภาษี โดยเฉพาะภาษีอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยิ่งทำให้ประชาชน มีเงินใช้จ่ายเพิ่มในด้านอื่น”

นอกจากนี้ เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจลีสซิ่งโดยเฉพาะลูกค้าระดับกลางถึงล่างมีการเติบโตนั้นยังรวมไปถึงราคาพืชผลทางเกษตรกรรมที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งช่วยให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากลูกค้าเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ โดยนิยมมองหารถยนต์ใหม่ หรือรถยนต์มือ2 เชิงพาณิชย์ อาทิ รถกระบะ รถตู้ และรถแวน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

“ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าระดับกลาง – ล่าง เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้รถยนต์ โดยจะหันมาเลือกขอสินเชื่อซื้อรถยนต์ที่ประหยัด น้ำมัน และเป็นรถยนต์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น เพราะรถยนต์เหล่านี้นอกจะใช้ในการโดยสาร ยังสามารถนำไปใช้ในการบรรทุกซึ่งหมายถึงช่วยสร้างรายได้แก่ผู้เป็นเจ้าของได้อีกด้วย”นายดนุชา กล่าว

ส่วนตลาดลีสซิ่ง ระดับบนนั้น มีการเติบโตน้อยลง เนื่องจากลูกค้าใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น รวมทั้งต่างมองหารถยนต์ที่ประหยัดพลังงานเช่นกัน จึงทำให้พฤติกรรมการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ของกลุ่มลูกค้าระดับบนลดน้อยลงจากเดิม

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ECL กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจลีสซิ่งไม่มีการเติบโตเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้ปรับตัวลดลงจากเดิมเช่นกัน หรืออยู่ในระดับที่ทรงตัว เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มให้ความสนใจเข้าลงทุนและทำตลาดในธุรกิจนี้ ทำให้หลายบริษํทต้องจับตาดูว่าธนาคารพาณิชย์จะใช้กลยุทธ์ใด เพราะปรับเปลี่ยน หรือเตรียมแผนรองรับ ขณะเดียวกัน ใน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในช่วงชะลอตัวและทรงตัวยิ่งทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เติบโตขึ้นได้ยาก

“ 2 ปีที่ผ่านมาตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้ไม่มีกาสรปรับตัวลดลง และไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเลย หรืออาจกล่าวได้ว่าการเติบโตอยู่ในระดับ0% เท่านั้น ซื้อมาจากผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งหลาย ราย อยู่ในช่วงการจับตาดูแผนการทำตลาดธุรกิจลีสซิ่งของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตามหลังจากมีการเลือกตั้ง ยอดการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเยอะซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 1ปีนี้” นายดนุชา กล่าว

สำหรับ ในส่วนภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ ECL ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมานั้น บริษัทมั่นใจว่ายอดการปล่อยสินเชื่อของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาบริษัทมีการตั้งสำรองไว้เยอะจนทำให้ผลประกอบการออกมาขาดทุน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 4/50 ยอดการปล่อยสินเชื่อของบริษัทไดเพิ่มขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยังขยายตัวมาจนถึงไตรมาส1/2551 นี้ ซึ่งทำให้บริษัทคาดว่าน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 20%

โดยการเติบโตของยอดการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมานี้ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าภาพรวมทั้งปีธุรกิจจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนทำให้ผลประกอบการในปีนี้อาจกลับมามีกำไรอีกครั้ง โดยเป้ารายได้ในปีนี้ของบริษัทตั้งไว้ที่อย่างต่ำ 600 – 700 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 20%

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ นายดนุชา กล่าวว่า บริษัททำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มจำนวนเชลล์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้นเช่นกัน ขณะที่ตลาดหลักของบริษัทยังเป็นกรุงเทพมหานคร และชลบุรี

“ต้องกล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของรถยนต์เชิงพาณิชย์ เพราะน้ำมันแพงขึ้นให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเน้นหารถที่ประหยัดน้ำมันและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนได้ ดังนั้นรถกระบะ รถตู้ และรถแวน ได้รับความนิยมสูงในขณะนี้”

อนึ่ง บมจ.ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง (ECL) ได้ชี้แจงผลการดำเนินงาน สำหรับปี 2550 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ว่ามีผลขาดทุนสุทธิ 8.83 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานของปี 2549 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 16.73 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 152.78

โดยบริษัทมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญมีจำนวน 31.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีจำนวน 12.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 152.74 เนื่องจากบริษัทตัดหนี้สูญจำนวน 23.33 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระมานานซึ่งบริษัทได้มีการติดตามจนถึงที่สุดแล้ว ควบคู่ไปกับการดำเนินคดีและบังคับคดีจนถึงที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจำนวน 8.49 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกหนี้ที่ค้างชำระ ทำให้บริษัทต้องติดตามและเร่งรัดอย่างใกล้ชิดและอยู่ระหว่างการดำเนินคดีให้ชำระหนี้บริษัทฯจึงพิจารณาตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และนโยบายของบริษัทฯ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะที่ ดอกผลตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาขายฝาก ปี 2550 มีจำนวน 112.97 ล้านบาท ลดลง 12.99 ล้านบาท จากปี 2549 ที่มีจำนวน 125.96 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 10.31 เนื่องจากบริษัทชะลอการปล่อยสินเชื่อ ในปี 2549 ดอกผลเช่าซื้อจึงลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปี 2550 และการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2550 ยังขยายตัวไม่เต็มที่ ส่วนดอกผลตามสัญญาขายฝากปี 2550 ลดลง จากการที่บริษัทได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากเกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพคล่องของลูกหนี้ในภาวะตลาดปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ECL มีภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี 2550 มีจำนวน 3.50 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ที่มีจำนวน 5.27 ล้านบาท โดยลดลง 1.77 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.58 เนื่องจากบริษัทฯตัดหนี้สูญ จำนวน 23.33 ล้านบาท มีผลทำให้บริษัทขาดทุนภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น