xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันพุ่งดันหนี้เน่าแบงก์เริ่มปูด เตือนธุรกิจปรับตัวก่อนทรุดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายแบงก์ชี้แนวโน้มเอ็นพีแอลยังขยับเพิ่มอีก หลังราคาน้ำมันพุ่งแรง กระทบต้นทุนหนัก โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาน้ำมันมาก เตือนผู้ประกอบเร่งปรับตัวก่อนแบกรับภาระไม่ไหว พร้อมเล็งตัดหนี้เน่าขายก้อนใหญ่ หวังช่วยลดพอร์ต ขณะที่ผลประกอบการ SCB-BAY ยังโตต่อเนื่องหลังกันสำรองครบ ด้าน BT ยังทรุดขาดทุน 1.6 พันล้าน

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2551 ของธนาคารว่า การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิของธนาคารในระดับที่สูง โดยธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 551%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือจาก 205 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2550 เป็น 1,334 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับธนาคารสามารถบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ทรงตัวได้ ซึ่งคาดว่านในช่วงที่เหลือธนาคารจะยังคงความสามารถในการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในส่วนของสินเชื่อนั้น ธนาคารจะยังคงเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในระดับ 12% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 30,000 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยในส่วนของสินเชื่อรายใหญ่มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่สินเชื่อขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) และสินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวได้ในระดับที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีภายหลังจากธนาคารได้ร่วมมือกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ในการปล่อยสินเชื่อให้สมาชิก ก็อาจจะช่วยเพิ่มยอดสินเชื่อรายย่อยของธนาคารได้ โดยธนาคารตั้งเป้าว่าจะสามารถปล่อยกู้ในส่วนนี้ประมาณ 6,000 ล้านบาท

"ธนาคารคงจะมีการทบทวนเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในช่วงกลางปี ซึ่งในช่วงต้นปีนี้ยังปล่อยสินเชื่อได้ต่ำ แต่เชื่อว่าช่วงต่อไปจะสามารถปล่อยกู้ในส่วนของเอสเอ็มอีและรายย่อยได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากการร่วมมือกับกบข.แล้ว ซึ่งจะช่วยดันยอดสินเชื่อให้เติบโตตามเป้าได้ แต่อาจจะมีการปรับโครงสร้างสินเชื่อ โดยจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยจาก 15% เป็น18-19%"นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับการเพิ่มขึ้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL Gross) ของธนาคาร โดยไตรมาสแรกปี 2551 มี NPL คิดเป็น 7.29%ของสินเชื่อรวม จากระดับ 6.84%กว่าในช่วงสิ้นปี 2550 นั้น มีสาเหตุมาจากยอดรวมของสินเชื่อของธนาคารลดลงเนื่องจากลูกค้ารายใหญ่รายใหญ่ชำระคืนหนี้จึงทำให้สัดส่วน NPL เพิ่มขึ้น นอกจากยังมีหนี้ส่วนหนึ่งที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ไหลกลับมาเป็น NPL อีก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ยังคงดำเนินการต่างๆ เพื่อปรับลดหนี้ NPL ลงให้เหลือประมาณ 5%ตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการขายออกไป

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า ปัญหาของผู้ประกอบการในขณะนี้เป็นเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งหากลูกค้าไม่มีการบริหารต้นทุนที่ดี ก็อาจจะได้รับผลกระทบ ในส่วนของธนาคารเองก็พยายามให้คำแนะนำในเรื่องการปรับตัว และการบริหารต้นทุน เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดปัญหาและกลายมาเป็นหนี้ NPL ไปในที่สุด และหากธนาคารต้องการลดหนี้ NPL ลงให้เหลือ 5% ตามเป้าหมายก็จะต้องมีการขายหนี้ NPL ออกไปประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.)และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท(SAM) หากที่ไหนให้ราคาดีกว่าก็จะขายออกไป

"ตอนนี้เชื่อว่าทุกๆแบงก์ก็คงจะประสบปัญหาเดียวกัน ก็คือยอดเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มก็ยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ เนื่องจากปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อน จนกระทั่งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นด้วย อันนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ได้ เพราะเราคงไม่เห็นราคาน้ำมันที่ลดลงมากนัก"นายชัยวัฒน์กล่าว

**SCB กำไรเพิ่ม 83.5%**

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิ 6,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการดำเนินยุทธศาสตร์การให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร(Universal Banking) ทำให้ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะจากผลิตภัณฑ์ด้านประกันและการขายกองทุนรวม และธุรกิจเช่าซื้อและธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งมีการส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานควบคู่ไปกับการบริหารค่าใช้จ่ายที่ดี รวมทั้งเป็นผลจากกำไรพิเศษจาการขายหุ้นในบริษัทต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงไตรมาสนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้การขยายตัวของสินเชื่อจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ธนาคารยังสามารถบริหารส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (NIM) ให้ปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้แล้ว ธนาคารยังประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยสามารถลดระดับจากระดับ 7.9% ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2550 มาอยู่ที่ 5.2% ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2551 การลดลงของสินเชื่อด้อยคุณภาพสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งการปรับปรุงและการยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสินเชื่อของธนาคาร

**BAYเล็งขาย NPL หมื่นล้าน**

นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2551 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2550 แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 1,130 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 67% แม้ว่าในไตรมาสนี้จะต้องทำการบันทึกขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของตราสาร Collateralized Debt Obligations (CDO) ที่ธนาคารลงทุนประเภทถือจนครบอายุ รวม 85 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา อีก 690 ล้านบาท หรือ 26% และในไตรมาสนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 538 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2550 สะท้อนแผนของธนาคารในอันที่จะเร่งขจัดหนี้ NPL

สำหรับการลงทุนใน CDO ที่ธนาคารถืออยู่ซึ่งไม่ได้เป็นการลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (sub-prime mortgage) เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เชื่อว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อธนาคารชั่วคราวเท่านั้น โดยธนาคารน่าจะสามารถบันทึกผลขาดทุนที่ได้ตั้งไว้กลับคืนเป็นรายได้ก่อน CDO ครบอายุในปี 2555 ทั้งนี้ จะเห็นว่าถึงแม้ธนาคารจะต้องบันทึกขาดทุนจากการ mark-to-market ถึง 690 ล้านบาท ธนาคารก็ยังสามารถรายงานผลการดำเนินงานที่ปรับปรุงดีขึ้นจากไตรมาสก่อนค่อนข้างมาก

นายตัน คอง คูน กล่าวอีกว่า ในไตรมาสนี้ธนาคารยังมีความคืบหน้าในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้ขาย NPL จำนวน 6,270 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 2 นอกจากนี้ ธนาคารยังอยู่ระหว่างเตรียมการขาย NPL เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ในปีนี้

**BT Q1 ปี 51 ขาดทุน 1.67 พันล้าน**

ธนาคารไทยธนาคาร (BT) เปิดเผยลการดำเนินงานไตรมาส 1/51 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,678.67 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.29 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 558.60 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.41 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น