xs
xsm
sm
md
lg

สรุปผลประกอบการแบงก์ ปี 50 “ใบโพธิ์” หรูกำไรพุ่ง 30% “กรุงศรีฯ-ชฎา” ยังทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยผลประกอบการแบงก์ ปี 50 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังไปได้สวย มีกำไรถ้วนหน้า นำโดย “ไทยพาณิชย์” หรูสุดกำไรเพิ่ม 31% ตามด้วย “กรุงเทพ-กสิกรไทย” เพิ่ม 13.3% และ 9.81% ตามลำดับ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง ยังโงหัวไม่ขึ้น “กรุงศรีฯ-ทหารไทย-นครหลวงไทย” ยังขาดทุนถ้วนหน้า เหตุต้องกันสำรองซีดีโอ และ IAS 39 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดปี

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการธนาคารประจำปี 2550 ว่า ธนาคารมีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นหลายด้าน โดยมีกำไรสุทธิ 19,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,241 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.3 และมีกำไรก่อนหักสำรองและภาษี 33,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6

ด้านสินเชื่อและเงินฝากของธนาคาร มีการขยายตัวดีในปี 2550 และคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งรายได้โดยรวมของธนาคารเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมียอดลดลงจากปีก่อน โดย ณ สิ้นปี 2550 สินเชื่อรวมของธนาคารมีการขยายตัวเป็น 1,035,391 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77,005 ล้านบาท หรือร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 ส่วนเงินฝากมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เป็น 1,267,068 ล้านบาท และจากการที่สินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินฝาก ดังนั้น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78.4 เป็นร้อยละ 81.7

ทั้งนี้ ในปี 2550 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2,403 ล้านบาท เป็น 46,834 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2,794 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 391 ล้านบาท และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในปี 2550 เท่ากับร้อยละ 3.15 เทียบกับร้อยละ 3.14 ในปี 2549

**SCB โชว์กำไรพุ่ง 31%**

ขณะที่ นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ในปี 2550 ธนาคารมีผลกำไรสุทธิ 17,356 ล้านบาท สูงขึ้น 31% เมื่อเทียบกับผลกำไร 13,286 ล้านบาท ในปี 2549 โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่ผลักดันผลประกอบการที่ดีในปี 2550 ได้แก่ ปัจจัยประการแรก มาจากการเติบโตของรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิที่เติบโตขึ้น 20.3% อันเป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมที่เติบโตขึ้น 16.1% เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยองค์ประกอบหลักของการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมในปี 2550 มาจากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เพิ่มขึ้นถึง 38.5% สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 12.8% สินเชื่อเคหะที่เติบโต 6.9% และ สินเชื่อการเช่าซื้อรถยนต์เติบโตขึ้น 43.7%”

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนประการที่สอง ได้แก่ การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เติบโตขึ้น 15.2% จากปีที่แล้ว อันเกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทในเครือ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ตั้งไว้เป็นอย่างดี

และการจัดการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนประการที่สาม ธนาคารสามารถลดสัดส่วนของ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPL) ลงมาอยู่ที่ระดับ 6.1% ในปี 2550 ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การบริหารจัดการ NPL เดิมอย่างถูกต้อง การควบคุม NPL ใหม่ให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ การขาย NPL และ NPA มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทที่ประสบความสำเร็จในช่วงปลาย ไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปี 2550

**กรุงศรีฯแจงเหตุขาดทุนจากกันสำรอง**

นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2550 ของธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้ จำนวน 8,504 ล้านบาท ลดลง 4,431 ล้านบาท หรือ ลดลง 34.3% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน สาเหตุเกิดจากค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเป้าหมายการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมของตราสาร Collateralized Debt Obligation (ซีดีโอ) และจากการที่ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้ทั้งจำนวนตามเกณฑ์ IAS39 ในครึ่งปีแรกของปีนี้ จึงทำให้ ปี 2550 ธนาคารขาดทุนสุทธิ จำนวน 3,992 ล้านบาท

สำหรับในไตรมาส 4/2550 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้ จำนวน 1,557 ล้านบาท ลดลง 1,319 ล้านบาท หรือลดลง 45.9% จากไตรมาส 4/2549 เนื่องจากในไตรมาสนี้มีการขาดทุนจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมของตราสารซีดีโอจำนวน 589 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2550 จำนวน 965 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4/2549 ธนาคารได้ตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS39 จึงทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิ 3,702 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2551 นั้น ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 8.8% หรือเป็นเม็ดเงินประมาณ 39,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเป้าหมายขยายสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตสุทธิประมาณ 11,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตสุทธิประมาณ 12,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยเติบโตสุทธิประมาณ 16,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายค่าธรรมเนียมจากการบริการซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 26%

“เราคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 4.5-5% ซึ่งการลงทุนภายในประเทศรวมถึงการมีรัฐบาลใหม่จะเป็นส่วนที่ช่วยให้มีความมั่นใจและมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่าสินเชื่อรายใหญ่จะขยายตัว 1.5 เท่าของจีดีพี เอสเอ็มอีโต 1.5-2 เท่าของจีดีพี และสินเชื่อรายย่อยจะโต 4 เท่าของจีดีพี จากหลายสิ่งที่เราได้ดำเนินการในปี 2550 ทำให้มั่นใจว่าพื้นฐานที่ดีที่เราสร้างขึ้นมาเหล่านั้นจะทำให้ธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายธุรกิจที่วางไว้สำหรับปี 2551 และผลประกอบการปีนี้น่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้” นายตัน คอง คูน กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันไว้ที่ 40% อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก 90% รายได้จากค่าธรรมเนียม 26% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 27 % อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ 59.2% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 3.7% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 6.7% โดยธนาคารจะมีการขายเอ็นพีแอลออกไปอีกราว 6,200 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้หาผู้ซื้อได้แล้วแต่เนื่องจากผู้ซื้อมีส่วนเกี่ยวโยงกับธนาคาร ดังนั้น จึงต้องประชุมขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้

สำหรับการตั้งสำรองการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประเภทซีดีโอ นั้น ในปี 2550 ธนาคารได้ตั้งสำรองการลงทุนในซีดีโอ และตราสารที่มีอนุพันธ์แฝง จากการตีมูลค่าตามราคาตลาด (mark to market) ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้ว 640 ล้านบาท ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการ mark to market แล้ว ซีดีโอขาดทุนเพิ่มขึ้น ธนาคารพร้อมจะตั้งสำรอง อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีนโยบายที่จะถือซีดีโอจนครบอายุ และในปัจจุบันอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 6%

นายตัน คอง คูน กล่าวว่า ส่วนการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทจีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GECAL นั้น ขณะนี้ได้รับการเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งขั้นตอนต่อไปทางธนาคารจะทำการขออนุมัติจากกระทรวงการคลังในการเพื่อให้สามารถปล่อยกู้ต่อรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากที่ธนาคารได้เข้าถือหุ้นของ GECAL แล้วจะทำให้สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของธนาคารเปลี่ยนไปโดยสัดส่วนของสินเชื่อรายใหญ่จะอยู่ที่ 32 % สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 34% และสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 34% จากสิ้นปี 2550 สัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่จะอยู่ที่ 38% สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 41% และสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 21%

**สคิบคาดปลายปีนี้ได้รู้ผลพันธมิตร**

ด้าน นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน)หรือ SCIB เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานรวมในไตรมาส 4/2550 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 894 ล้านบาท และพลิกเปลี่ยนจากไตรมาส 3 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 3,968 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับผลประกอบการ 9 เดือนแรก ซึ่งมีผลขาดทุนเนื่องจากการจัดชั้นสินเชื่อเชิงคุณภาพและการกันสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพตามเกณฑ์ IAS 39 รวมทั้งนโยบายการสำรองด้อยค่าในทรัพย์สินแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้งบการเงินสะท้อนถึงสถานะของธนาคารที่รับรู้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจทำให้ทั้งปีธนาคารมีขาดทุนสุทธิ 1,929 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2551 จะควบคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะลดลงไปเหลือต่ำกว่า 5% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 6.84% ซึ่งเป็นการลดลงจากช่วงเดือน ก.ย.ปี 2550 ที่ NPL เพิ่มไปที่ 8.07% จากการขายออกไป และผลจากการขาย NPL ออกไปทำให้มีอัตราส่วนสำรองต่อ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 85% จาก 76%

นอกจากนี้ ธนาคารยังตั้งเป้าเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภายใน 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.70% จากปัจจุบันที่อยู่ 3.04% ซึ่งส่วนต่างของธนาคารได้เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่อยู่ 2.61% ตามสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสัดส่วนเงินฝากที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้สัดส่วนเงินฝากประจำลดลง จากเดิมที่อยู่ 70% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าในอนาคตให้สัดส่วนเงินฝากประจำเหลือ 60% และออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 40%

สำหรับสินเชื่อธนาคารตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยเป็น 25% และเอสเอ็มอีเป็น 45% ส่วนสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ 30% ซึ่งจะเป็นลักษณะการเพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงเป้าสินเชื่อปี 2551 ที่ตั้งเป้าการเติบโต 12% หรือ 3 หมื่นล้านบาท ว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อการปล่อยสินเชื่อปีนี้ และผลการดำเนินงานปีนี้น่าจะออกมามีกำไร ซึ่งปี 2551 เป็นปีที่มีรัฐบาลมาจากการเล ือกตั้ง ส่งผลให้มุมมองของต่างชาติต่อประเทศไทยเป็นบวก เพราะต่างชาติให้ความสำคัญกับความเป็นมาของรัฐบาลว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่มากกว่าดูที่ตัวบุคคลว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนเรื่องพันธมิตรที่จะเข้ามาถือหุ้นในส่วนที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน( FIDF) จะขายออกมานั้นธนาคารคาดว่าปลายปี 2551 จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมว่าใครจะมาเป็นพันธมิตร ซึ่งในไตรมาสแรกธนาคารจะเริ่มมีที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาดูแล

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรที่ทางธนาคารต้องการไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรายเดียวเพราะธนาคารต้องการพันธมิตรที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความรู้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการรุกรายย่อย ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีพันธมิตรมากกว่า 1 ราย เพราะแต่ละรายก็จะมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น