xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นภาคบ่ายรูดลงหนักกว่า 21.50 จุด ดัชนีหลุด 770 จุดไปแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงบ่ายทรุดหนัก เปิดตลาดดัชนีดิ่งลงต่อเนื่องเกือบ 12 จุด วอลุ่มแน่นกว่า 2 หมื่นล้าน มีแรงขายหนาแน่นในหุ้นกลุ่ม ปตท.ราคาร่วงหนักกว่า 3% นักวิเคราะห์คาด ต่างชาติเทขายหุ้นใหญ่ทุกระดับราคา หลังตลาดหุ้นย่านเอเชียดิ่งลงกว่า 5% โบรกฯ หั่นเป้าดัชนีใหม่ คาดภาวะ ศก.สหรัฐฯถดถอย กดตลาดหุ้นทั่วโลกทรุด อย่างน้อยอีก 6 เดือน

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วันนี้ (21 ม.ค.) หลังเปิดตลาดภาคบ่าย ดัชนีก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 15.32 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 781.77 จุด ลดลง 7.90 จุด มูลค่าการซื้อขาย 19,747.32 ล้านบาท นักวิเคราะห์คาด นักลงทุนสถาบันในประเทศเริ่มถอดใจ หลังจากที่ไล่ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ กลุ่มพลังงาน เพื่อพยุงดัชนีเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มกดดันหนัก นักลงทุนต่างชาติแห่เทขายทิ้งทุกระดับราคา ทำให้แรงซื้อต้านไม่ไหว

“ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งไม่สามารถสรุปค่าเช่าท่อก๊าซได้ในวันนี้ และมีความขัดแย้งในเรื่องฐานราได้ที่ใช้คำนวณ ระหว่างกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จนทำให้ต้องเลื่อนออกไปพิจารณาใหม่ ในสัปดาห์หน้า”

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 15.48 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 777.83 จุด ลดลง 11.84 จุด มูลค่าการซื้อขาย 21,079.25 ล้านบาท

น.ส.สุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ตลาดหุ้นบ่ายนี้ปรับตัวลงแรงเกือบ 12 จุด หลังจากที่ช่วงเช้าบวกไป 13 จุด เป็นไปตามตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดต่างประเทศปรับลงไปค่อนข้างแรง 5% ในหลายตลาดย่านเอเชีย ทำให้นักลงทุนกังวลและเทขายตาม ดัชนีมีแนวรับ 773 จุด ถัดไป 757 จุด และ 750 จุด แนวต้าน 800-820 จุด

โดยพบว่า หุ้นในกลุ่ม ปตท.ปรับตัวลงค่อนข้างมาก ปรับลงมากว่า 3% ในกลุ่มพลังงานเป็นตัวนำตลาดลงหลักๆ อีกทั้งราคาหุ้นในกลุ่มนี้แกว่งตามราคา commodity ในตลาดด้วย ขณะที่มีเรื่องค่าท่อก๊าซที่ยังต้องเลื่อนออกไปซึ่งยังไม่ชัดเจน

นายธีระพงษ์ วชิรพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.ภัทร (PHATRA) กล่าวในงาน “มหกรรมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ปี 2551” โดยระบุว่า ฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการดัชนีหุ้นไทยปีนี้เหลือต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงปลายปี 50 ที่ 1,000 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวค่อนข้างรุนแรงและอาจจะถดถอยถึง 3 ไตรมาส

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1% และมีโอกาสที่จะลดเหลือเพียง 0.80% และยังได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ที่ยังกดดันอยู่ ซึ่งหากพิจารณาสถิติจะพบว่าเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย

ในปีนี้เห็นว่า หุ้นกลุ่มธนาคารยังน่าลงทุนโดยให้ผลตอบแทนถึง 15% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนของ SET Index เพราะส่วนใหญ่มีการตั้งสำรอง

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย (SCIBS) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้จากเคยมองไว้ที่ 1,000 จุด โดยขณะนี้ลดลงเหลือ 900-930 จุด ซึ่งเป็นตัวเลขภายใต้เงื่อนไขมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เรียบร้อย และมีการลงทุนเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังไม่ดีขึ้น และอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจะเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยอยู่ โดยประเมินว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้คงยังไม่มีข่าวดีจากสหรัฐฯที่จะทำให้ตลาดหุ้นอื่นๆ ปรับตัวในทิศทางที่ดีได้ เนื่องจากปัญหาซับไพรม์ที่ลากยาวมาตั้งแต่ไตรมาส 4/51 และยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจจะถดถอย จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ในช่วงสั้น ดังนั้น sentiment ในช่วงนี้มีโอกาสที่จะปรับลดลง

แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะปรับตัวขึ้นได้จากการประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวไปมากกว่านี้ และจากการประเมินก็เห็นว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งนี้จะมากกว่าทุกครั้ง

“ตอนนี้เราเริ่มที่จะพิจารณาดัชนีใหม่ จากตอนปลายปีที่มองดัชนีปี 2551 ที่ 1,000 จุด จากการคาดการณ์ว่าจะมีเงินทุนต่างชาติเข้ามาจากค่าเงินสหรัฐที่อ่อนค่าลง แต่เมื่อดูตัวเลข 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลกกลัวตลาดหุ้น และหันไปถือพันธบัตรและทองคำแทน”

สำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์ มองว่า แบงก์ขนาดใหญ่ได้เปรียบและยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากกว่าแบงก์ขนาดเล็ก โดยหุ้นเด่นกลุ่มแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รวมทั้ง ธนาคารทหารไทย (TMB) หลังจากที่ไอเอ็นจี กรุ๊ป เข้ามาถือหุ้นทำให้มีจุดเด่นด้านประกัน ซึ่งแตกต่างจากแบงก์อื่นแต่ก็ยังมีผลขาดทุนค่อนข้างมาก

ขณะที่กลุ่มหลักทรัพย์จะผันผวนตามตลาดหุ้นไทย แต่การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ โดยแนะให้มองคุณภาพของบริษัทด้วย แนะ PHATRA แข็งแกร่งในแง่ของบริษัทแม่ต่างประเทศถือหุ้น, บล.บัวหลวง (BLS) ในเครือแบงก์กรุงเทพ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้ต้นทุนต่ำ และบล.เคจีไอ ( KGI) ที่แข็งแกร่งทางด้านตราสารอนุพันธ์

โดยเมื่อเวลา 16.24 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 771.26 จุด ลดลง 18.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 24,994.30 ล้านบาท

ล่าสุด 16.24 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 768.17 จุด ลดลง 21.50 จุด มูลค่าการซื้อขาย 26.308.71 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น